SCB อุ้มท่องเที่ยวต่อ 7.5 หมื่นล้าน

SCB อุ้มท่องเที่ยวต่อ 7.5 หมื่นล้าน

SCB ประเมินพอร์ตลูกหนี้เอสเอ็มอี-รายย่อย คาดธุรกิจเอสเอ็มอีกลับมาชำระหนี้ปกติได้ราว 70% ขณะที่ต้องช่วยเหลือต่อ 30% ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจโรงแรม คาดต้องอุ้มต่ออีกราว 7.5 หมื่นล้านบาท จากพอร์ตลูกค้าโรงแรมที่เข้าพักหนี้ 1.6 แสนล้าน 

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)(SCB)กล่าวว่า หากดูสถานการณ์ของลูกหนี้เอสเอ็มอี ในปัจจุบัน เชื่อว่าหลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือผ่านโครงการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เมื่อ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะมีธุรกิจเอสเอ็มอี ออกจากโครงการพักหนี้ และกลับมาชำระหนี้ได้ราว 70% ซึ่งมีทั้งลูกหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ จนกลับมาชำระหนี้ปกติได้ และลูกหนี้มีศักยภาพในการชำระหนี้อยู่แล้ว

ขณะเดียวกันมีอีกราว 30% ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากธนาคาร ผ่านมาตรการต่างๆเพิ่มเติม ซึ่งรวมไปถึงโครงการพักหนี้ต่อที่ช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมต่อไปอีก 6 เดือนถึงมิ.ย. 2564 นี้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารต่อเนื่อง เป็นลูกหนี้ในธุรกิจโรงแรมเพราะนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาปกติ ดังนั้นคาดว่าจะมีลูกหนี้จากธุรกิจโรงแรมราว 7.5 หมื่นล้านบาท ที่อาจเข้ามาตรการช่วยเหลือของธนาคารต่อเนื่อง เช่นการพักหนี้ต่อไปถึง 6 เดือน หรือผ่านมาตรการต่างๆ จากเดิมที่มีลูกหนี้ในธุรกิจโรงแรม ที่เป็นลูกค้าธนาคารเข้าสู่โครงการพักหนี้ธปท.ราว 1.6 แสนล้านบาท จากลูกหนี้ธุรกิจโรงแรมทั้งหมดของธนาคารที่มีพอร์ตสินเชื่ออยู่ราว 2.4 แสนล้านบาท

     “กลุ่มที่ต้องช่วยต่อ ส่วนใหญ่คืออยู่ในธุรกิจโรงแรม เพราะธุรกิจโรงแรมยังไม่กลับมาปกติ100% บางพื้นที่กลับมาแค่10-20% แต่บางพื้นที่ก็พักเต็ม เช่นเชียงใหม่ แต่ที่คาดว่าต้องช่วยเหลือต่อ หลังจากออกจากพักหนี้ 22 ต.ค.นี้ไปแล้ว มีราว 7.5 หมื่นล้านบาท จากทั้งหมดที่เข้าพักหนี้ราว 1.6 แสนล้านบาท ที่อาจขอการช่วยเหลือต่อ ซึ่งมาตรการหนึ่งในนั้นคือเข้ามาตรการพักหนี้ ส่วนหากเลย 6 เดือน ก็ต้องมาดูว่าไปไหวหรือไม่ หากท่องเที่ยวกลับมาก็มีโอกาสที่ธุรกิจโรงแรมจะกลับมาฟื้นได้ ขณะเดียวกัน อีกกลุ่มที่อาจต้องการความช่วยเหลือต่อ เช่นธุรกิจขนาดกลาง ที่ทำธุรกิจโรงแรมขนาด 300-500 ห้อง ที่อาจต้องช่วยเหลือต่อบ้าง”

สำหรับพอร์ตลูกหนี้รายย่อยเท่าที่ประเมินพบว่า มีลูกหนี้ที่สามารถออกจากมาตรการช่วยเหลือได้ราว 60-70% แล้วโปรดักต์สินเชื่อ ขณะที่อีก 25% ต้องช่วยเหลือต่อเนื่อง เช่นการปรับโครงสร้างหนี้ การลดอัตราผ่อนชำระ เช่น จากเดิมก่อนเข้าโครงการเคยผ่อนชำระ 50,000 บาท เหลือ 10,000 บาท เป็นต้น เพื่อลดอัตราผ่อนให้ลดลง และยืดระยะเวลายาวขึ้น

ทั้งนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อย ที่ยังต้องการช่วยเหลือต่ออีก 25% หนึ่งในนั้นคือลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ ที่ต้องการช่วยเหลือ เพราะลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นลูกหนี้ที่ธุรกิจ หรือไมโครเอสเอ็มอี ดังนั้นอาจต้องช่วยประคองต่อเนื่อง ขณะที่อีก 5% ยังไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้

นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ของธนาคาร ยอมรับว่ามีทิศทางเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า หากเทียบกับไตรมาส 3 ที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.32% เพราะสถานการณ์ของวิกฤติครั้งนี้ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ อีกทั้งประเทศยังต้องพึ่งปัจจัยภายนอกค่อนข้างสูง ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่หนี้เสียจะเพิ่มได้ในระยะข้างหน้า แต่เชื่อว่า จะเป็นระดับที่บริหารจัดการได้

โดยดูจากพอร์ตลูกหนี้ที่เข้าสู่มาตรการช่วยเหลือของธนาคารในไตรมาส 3 ปี 2563 พบว่าลดลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นราว 29% ของพอร์ต ลดลงต่อเนื่อง หากเทียบกับลูกหนี้ ที่เข้าสู่การช่วยเหลือของธนาคารในไตรมาส 3 ที่มีราว 8.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 39% ของพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อหมดมาตการช่วยเหลือ ลูกหนี้ส่วนใหญ่ สามารถกลับมาชำระหนี้ปกติได้ ดังนั้นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นระดับที่บริหารจัดการได้

“ยอมรับว่าทิศทางเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นได้ เพราะวิกฤติรอบนี้ ต้องพึ่งปัจจัยภายนอกเยอะ แต่ความเสี่ยงที่แบงก์ประเมินปัจจุบัน ถือว่ายังเป็นจุดที่บริหารจัดการได้ ประกอบกับเรามีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ดังนั้นเชื่อว่า แม้จะมีความเสี่ยงเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น และอาจต้องตั้งสำรองในระดับสูง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากปัจจัยในอนาคตได้ และหากดูเอ็นพีแอลของเราปัจจุบันก็ถือว่าต่ำหากเทียบกับอุตสาหกรรม”

สำหรับการบริหารเอ็นพีแอล ธนาคารคงมีการจัดการเอ็นพีแอลเชิงรุกต่อไป เช่น การขายหนี้ออกไป ซึ่งถือเป็นกลไกปกติของธุรกิจธนาคาร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการช่วยเหลือลูกหนี้ของแบงก์ ให้ไม่เป็นเอ็นพีแอล เชื่อว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากกว่า