ลุ้นบอร์ดแข่งขันเคาะควบรวม 'CP-Tesco' อนุฯชงคุมใช้อำนาจเหนือตลาด

ลุ้นบอร์ดแข่งขันเคาะควบรวม 'CP-Tesco' อนุฯชงคุมใช้อำนาจเหนือตลาด

บอร์ดแข่งขันการค้าเร่งเคาะควบรวม “ซีพี-เทสโก้โลตัส” อนุกรรมการฯ ชงแนวทางต้องไม่ใช้อำนาจเหนือตลาดตั้งเงื่อนไขการค้าไม่เป็นธรรม ห้ามเพิ่มค่าธรรมเนียมวางสินค้า คาดพิจารณาสรุปผลสัปดาห์หน้า

การพิจารณาข้อเสนอคำขอควบรวมกิจการของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ซื้อหุ้นบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จะครบกำหนดการพิจารณาของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า 90 วัน ในช่วงปลายเดือน ต.ค.2563 ซึ่งหากซีพีได้รับการอนุญาตให้ควบรวมกิจการจะทำให้ได้สิทธิในบริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ที่ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้าเทสโก้ โลตัส (Tesco Lotus) ในประเทศไทย

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า คณะอนุกรรมการด้านการพิจารณาโครงสร้างตลาดจะต้องส่งผลการพิจารณาเบื้องต้นให้กับคณะกรรมการแข่งขันทางการค้ารับทราบภายในสัปดาห์นี้ และในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาผลสรุปในการขอควบรวมกิจการของกลุ่มซีพี เพื่อลงมติว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการควบรวมกิจการ

“ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าผลสรุปออกมาเป็นอย่างไร คงต้องรอการพิจารณาในสัปดาห์หน้า“นายสกนธ์ กล่าว

นายสนกนธ์ กล่าวว่า หากว่าการพิจารณาของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้ายังเห็นว่าในกรณีมีความจำเป็นที่ไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 90 วัน ให้ขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกิน 15 วัน โดยบันทึกเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาไว้ในการพิจารณาวินิจฉัย

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กล่าวกับว่า คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้ติดตามความคืบหน้าของการพิจารณาคำขอควบรวมกิจการของบริษัทในเครือซีพีกับเทสโก้ โลตัสอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การพิจารณาล่าสุดได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างตลาดและคณะอนุกรรมการพิจารณาการควบรวมกิจการขึ้นมา ซึ่งการพิจารณาได้มีการพิจารณาประเด็นอำนาจเหนือตลาดของการควบรวมกิจการทั้ง 2 ราย โดยแหล่งข่าวบอกกับกรุงเทพธุรกิจว่าการพิจารณาเป็น 2 ส่วน คือ

1.กิจการร้านสะดวกซื้อ ซึ่งบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริหารร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” มีจำนวนสาขาคิดเป็น 70% ของร้านสะดวกซื้อทั้งหมดในประเทศ

2.กิจการไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในบริษัทสยาม แม็คโคร จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารห้างแม็คโคร โดยการควบรวมกิจการครั้งนี้จะทำให้เครือซีพีเป็นผู้บริหารทั้งแม็คโคร และเทสโก้ โลตัส

รวมทั้งการควบรวมกิจการครั้งนี้ได้พิจารณามาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2562 ซึ่งห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีอํานาจเหนือตลาดดำเนินการหลายด้าน เช่น การกําหนดเงื่อนไขในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่น ซึ่งเป็นคู่ค้าของตนต้องจํากัดการบริการ การผลิต การซื้อ หรือการจําหน่ายสินค้า หรือต้องจํากัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า การได้รับหรือให้บริการ หรือในการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านการพิจารณาโครงสร้างตลาดศึกษาแนวทางการพิจารณาควบรวมกิจการ โดยพิจารณาเงื่อนไขต้องไม่กระทบกับคู่ค้าของธุรกิจในเครือซีพีและเทสโก้ โลตัสเดิม เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หรือการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดกับคู่ค้า เช่น ซัพพลายเออร์ ผู้ให้บริการโลจิวติกส์ ซึ่งเบื้องต้นได้พิจารณาหลายแนวทาง เช่น

1.ไม่มีเงื่อนไขการบังคับให้ซัพพลายเออร์หรือคู่ค้าต้องส่งสินค้าหรือบริการให้กับธุรกิจค้าปลีกปัจจุบันของเครือซีพี (เซเว่น-อีเลฟเว่น และแม็คโคร) โดยมีเงื่อนไขต้องส่งสินค้าให้เทสโก้ โลตัสด้วย

2.ต้องไม่มีเงื่อนไขการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากซัพพลายเออร์หรือคู่ค้า เช่น ค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า (Entrance Fee) ค่าธรรมเนียมการวางสินค้า รวมทั้งต้องไม่เพิ่มค่าส่วนแบ่งจากยอดขายหรือกำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit (GP)

3.เปิดให้ซัพพลายเออร์หรือคู่ค้าเลือกได้ว่าจะส่งสินค้าให้กับธุรกิจค้าปลีกปัจจุบันของเครือซีพีหรือส่งให้กับเทสโก้ โลตัส

สำหรับแนวทางป้องกันพฤติกรรมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าจะนำมาประกอบการพิจารณาในสัปดาห์หน้าที่มีข้อสรุปได้ 3 แนวทาง คือ 

1.อนุญาตให้ควบรวมกิจการตามคำร้อง

2.อนุญาตให้ควบรวมกิจการแบบเงื่อนไข

3.ไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ

ทั้งนี้ กฎหมายได้กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาถึงความจำเป็นตามควรทางธุรกิจ ประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ การไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และการไม่กระทบต่อประโยชน์ของผู้บริโภคส่วนรวม

นอกจากนี้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าต้องระบุเหตุผลในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจรวมถึงปัญหา ข้อเท็จจริงข้อกฎหมายและลงลายมือชื่อของกรรมการที่พิจารณา โดยสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าจะแจ้งผลการพิจารณาต่อผู้ขออนุญาตภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่ง

ขณะที่กลุ่มซีพีหากได้รับคำสั่งของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าแล้วต้องปฏิบัติตาม คือ ในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจต้องดำเนินการตามระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าและในกรณีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

รายงานข่าวระบุว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อเดือน มี.ค.2563 ว่าบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ทำการซื้อหุ้นบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด

ทั้งนี้ การซื้อหุ้นดังกล่าวจะทำให้บริษัทในเครือซีพีได้สิทธิในบริษัทในบริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในไทยรวมทั้งซื้อหุ้นบริษัท Tesco Stores (Malaysia) Sdn.Bhd. ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในประเทศมาเลเซีย

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2563 ระบุถึงการซื้อหุ้นดังกล่าวจะทำให้ซีพีได้สินทรัพย์มูลค่า 338,445 ล้านบาทแต่เงื่อนไขการซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของไทย และ Ministry of Domestic Trade and Consumers Affairs ของประเทศมาเลเซีย

สำหรับธุรกิจ Tesco Lotus ในประเทศไทย ประกอบด้วยไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขาตลาดโลตัส 179 สาขา Tesco Express 1,574 สาขา และการให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา (ข้อมูลเดือน ส.ค.2562)

ส่วนธุรกิจในมาเลเซียประกอบด้วยไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขาซุปเปอร์มาร์เก็ต 13 สาขาร้านค้าขนาดเล็ก 9 สาขา และให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 56 สาขา (ข้อมูลเดือน ส.ค.2562) โดยเทสโก้ ประเทศมาเลเซียได้พัฒนามาเป็นผู้นำในด้านกิจการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศมาเลเซีย