‘ลิขสิทธิ์เพลงฮิต’ การลงทุนที่คุ้มค่าไม่แพ้ ทองคำ-น้ำมัน

‘ลิขสิทธิ์เพลงฮิต’ การลงทุนที่คุ้มค่าไม่แพ้ ทองคำ-น้ำมัน

พบกับ 'เมิร์ค เมอร์คิวเรียดิส" ชายผู้ทุ่มเงินพันล้านดอลลาร์สหรัฐกว้านซื้อ ‘ลิขสิทธิ์เพลงฮิต’ ที่กลายเป็นลงทุนในสินทรัพย์รูปแบบใหม่ซึ่งสร้างรายได้มั่นคง ไม่ผันผวนไปตามสภาพเศรษฐกิจเหมือนราคาทองคำ-น้ำมัน

160335987499

“เพลงที่ผมซื้อมีค่ามากกว่าทองคำหรือน้ำมันเสียอีก เพราะเพลงอันยอดเยี่ยมที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วเหล่านี้สร้างรายได้ที่มั่นคง และคาดเดาได้ในระยะยาว”

เมิร์ค เมอร์คิวเรียดิส (Merck Mercuriadis) ผู้ก่อตั้งบริษัท Hipgnosis Songs Fund กล่าวในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซีเมื่อเร็ว ๆ นี้

Hipgnosis Songs Fund เป็นบริษัทบริหารจัดการเพลงที่ก่อตั้งโดย เมิร์ค เมอร์คิวเรียดิส (Merck Mercuriadis) และผู้ร่วมก่อตั้ง ไนล์ รอดเจอร์ส (Nile Rodgers) เมื่อปี 2018 นับถึงปัจจุบัน Hipgnosis ได้ทุ่มเงินไปกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปกับการซื้อลิขสิทธิ์เพลงของศิลปินดังอย่าง มาร์ค รอนสัน, Chic, แบร์รี แมนิโลว์, บลอนดี้

ล่าสุด Hipgnosis เพิ่งซื้อแคตาล็อกเพลงของ LA Reid มาเก็บไว้ ทำให้ได้ลิขสิทธิ์เพลงดังอย่าง End Of The Road ของวง Boyz II Men, เพลง I'm Your Baby Tonight ของวิทนีย์ ฮุสตัน และเพลง Don't Be Cruel ของบ็อบบี้ บราวน์ มาไว้ในมือ

  • รายได้มั่นคงกว่าทองคำ-น้ำมัน

แล้วการถือลิขสิทธิ์เพลงฮิตเอาไว้ในมือจะสร้างรายได้อย่างไร?

คำตอบก็คือทุกครั้งที่เพลงซึ่งคุณถือลิขสิทธิ์เอาไว้ถูกเปิดทางวิทยุ ถูกสตรีมในแอพพลิเคชั่นสตรีมมิงที่ปัจจุบันกลายเป็นช่องทางฟังเพลงหลักของคนทั่วโลกไปแล้ว รวมไปถึงการถูกนำไปใส่ในภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ

เมิร์ค เมอร์คิวเรียดิส ผู้ก่อตั้ง Hipgnosis อธิบายถึงเหตุผลที่เขาพูดว่า “ลิขสิทธิ์เพลงฮิตมีค่ามากกว่าทองคำหรือน้ำมัน” เอาไว้ว่า “ถ้าคุณได้เพลงอย่าง Sweet Dreams ของ Eurythmics หรือ Livin' On A Prayer ของ Bon Jovi เอาไว้ในมือแล้วละก็ คุณจะมีรายได้ที่มั่นคงไปอีก 30-40 ปีเลยทีเดียว”

เมอร์คิวเรียดิสยังกล่าวเสริมอีกว่าเพลงฮิตต่าง ๆ ถือเป็นการลงทุนที่มั่นคงก็เพราะว่าการสร้างรายได้ไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ

“เวลาคนเรามีชีวิตที่ดี พวกเขาจะฟังเพลง ในขณะเดียวกัน เวลาที่พวกเขาเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ อย่างที่พวกเราประสบในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (เมอร์คิวเรียดิสพาดพิงถึง โควิด-19) พวกเขาก็จะหลบหนีไปหาความสบายใจด้วยเพลงดี ๆ เช่นกัน”

“ดังนั้น เพลงจึงถูกบริโภคอยู่ตลอดเวลา และมันจะก่อให้เกิดรายได้อยู่เสมอ”

บีบีซีรายงานว่าคำกล่าวอ้างของเมอร์คิวเรียดิสมีหลักฐานสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะในช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคมปี 2563 สปอติฟาย (Spotify) แอพสตรีมมิงเพลงอันดับ 1 ของโลก มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 22% ทำให้ค่าลิขสิทธิ์เพลงที่ได้จากการสตรีมมิงเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด แล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือราคาหุ้นของบริษัท Hipgnosis เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงภาวะวิกฤติเช่นนี้

160336012436

credit : Music Week ทวิตเตอร์

160336013976

credit : https://www.hipgnosissongs.com/

  • รอบรู้ เชี่ยวชาญ มองธุรกิจให้ขาด

เมิร์ค เมอร์คิวเรียดิส ผู้ก่อตั้ง Hipgnosis เป็นคนควิเบก ประเทศแคนาดา ความมุ่งมั่นอุตสาหะของเขาแสดงออกมาให้เห็นตั้งแต่ตอนที่ก้าวเข้าสู่วงการเพลงได้ก็เพราะเพียรพยายามโทรศัพท์ไปที่บริษัท Virgin Records สาขาโตรอนโต้ ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งได้งานในแผนกการตลาด ซึ่งตอนอยู่ที่นั่นเขาได้ทำงานกับศิลปินดังๆ อย่าง UB40, The Human League, XTC

พอในปี 2529 เมอร์คิวเรียดิสก็ขยับเข้าไปทำงานที่ค่ายเพลงอินเตอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Sanctuary Group จนกระทั่งก้าวขึ้นมาเป็น CEO ในท้ายที่สุด ตอนอยู่ที่นี่เขาคอยดูแลผลงานให้กับนักร้องดังระดับโลกอย่าง เอลตัน จอห์น วงร็อคระดับตำนานอย่าง Iron Maiden, Guns N' Roses รวมไปถึงนักร้องเพลงป๊อปที่มีชื่อเสียงอย่างวง Destiny's Child และบียอนเซ่ รวมไปถึงดูแลการกลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ของ Morrissey ในปี 2547

เมอร์คิวเรียดิสได้รับการยกย่องจากคนในวงการเพลงเรื่องความเชี่ยวชาญ และรอบรู้ของเขา โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ คานเย่ เวสต์ แรปเปอร์ ฝีปากกล้าชาวอเมริกันที่ไม่ยอมสยบให้กับใครง่าย ๆ ยังถึงกับออกปากว่าเจ้าของบริษัท Hipgnosis ผู้นี้เป็น “บุคคลที่ทรงอิทธิพล และมีความรอบรู้มากที่สุดคนหนึ่งในวงการเพลง”

  • ‘สตรีมมิง’ อนาคตของวงการเพลง

ความคิดในการก่อตั้งบริษัท Hipgnosis ผุดขึ้นในใจของเมอร์คิวเรียดิสในปี 2552 ช่วงเดียวกับที่สปอติฟาย (Spotify) เปิดตัวในสหราชอาณาจักร

“ผมมองเห็นว่าสตรีมมิงจะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบ และทำให้อุตสาหกรรมเพลงกลับมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากอีกครั้ง” เมอร์คิวเรียดิสกล่าว

พร้อมอธิบายเรื่องนี้เอาไว้ว่าปรกติแล้วอุตสาหกรรมเพลงจะวัดความสำเร็จจากการที่อัลบั้มหรือเพลงนั้น ๆ ได้รับการรับรองยอดขายระดับแพลตินัม (ในสหรัฐจะหมายถึงมียอดขาย 1 ล้านแผ่นขึ้นไป) ซึ่งฟังดูแล้วอาจจะคิดว่ามาก แต่ถ้าหันไปมองดูยอดขายตั๋วของหนังดังอย่าง Toy Story 4 ที่ขายตั๋วได้ 43 ล้านใบแล้วมันบอกได้ว่า ถึงแม้คนส่วนใหญ่จะชอบฟังเพลงก็จริง แต่พวกเขายังไม่ค่อยที่จะยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินเพื่อการฟังเพลง

แต่สตรีมมิงเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวของผู้บริโภคไป โดยตอนนี้คนยอมจ่ายเงินค่าสมาชิกแอพพลิเคชั่นฟังเพลงอย่าง Spotify, Apple Music, Deezer, Tidal, Youtube Music, Joox ฯลฯ เป็นรายเดือน ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถฟังเพลงของศิลปินต่าง ๆ ได้อย่างไม่จำกัด โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินซื้อทีละเพลงหรือทีละอัลบั้มอีกต่อไป

ข้อมูลจาก Statista.com ระบุว่า Spotify มีผู้สมัครแบบเสียเงิน (premium) จำนวน 138 ล้านราย นับถึงไตรมาส 2 ของปี 2563 ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ยอดผู้สมัครสมาชิกแบบ premium ของ Spotify เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า

แต่ถ้ารวมๆ ยอดสมาชิกจากแอพสตรีมมิงเพลงทุกแอพแล้วจะมีอยู่ราว 450 ล้านคนทั่วโลก

160336033994

เมื่อครั้งที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน

credit : Hipgnosis Songs ทวิตเตอร์

  • เพลงคือ mini brand ที่ต้องบริหารจัดการ

Hipgnosis ต่างจากค่ายเพลงทั่วๆ ไปตรงที่ไม่ได้มองหาศิลปินคนต่อไปที่จะทำเพลงฮิตดังเปรี้ยงปร้าง แต่ทางบริษัทกลับกว้านซื้อเพลงฮิตเก่า ๆ มาเก็บไว้ โดยหนึ่งในสามของเพลงที่ Hipgnosis เป็นเจ้าของนั้นมีอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ส่วนอีก 59% เป็นเพลงอายุระหว่าง 3-10 ปี โดยมีเพลงเพียงไม่ถึง 10% เท่านั้นที่เป็นเพลงใหม่ที่เพิ่งปล่อย

“สิ่งหนึ่งที่เพลงพวกนี้มีเหมือนกันคือ พวกมันมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรม” เมอร์คิวเรียดิสกล่าวถึงเพลงที่บริษัทของเขาซื้อลิขสิทธิ์มาเก็บไว้

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ Hipgnosis ไม่ได้ซื้อเพลงมาเก็บไว้เฉย ๆ แต่ทางบริษัทปฏิบัติกับเพลงแต่ละเพลงเหมือนเป็นแบรนด์สินค้าขนาดเล็ก (mini brand) ที่ต้องมีการบริหารจัดการเพื่อสร้างรายได้ต่อไป อาทิ การหาช่องทางนำเพลงไปใส่ในภาพยนตร์, ละคร, รายการทีวี หรือหาศิลปินมาคัฟเวอร์ เพื่อทำให้เพลงได้อยู่ในชาร์ตต่อไป

Hipgnosis เข้าจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 สามารถระดมทุนไปได้ 265 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นิตยสาร Variety รายงานว่านับถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ทางบริษัทมีลิขสิทธิ์เพลงอยู่ในมือแล้วราว 13,300 เพลง คิดเป็นมูลค่ากว่า 760 ล้านปอนด์ ขณะที่ Music Business Worldwide ระบุว่ามูลค่าตลาด (Market Cap) ของ Hipgnosis ทะลุ 1,000 ล้านปอนด์ไปแล้วในเดือนสิงหาคม 2563

โดยเพลงที่ Hipgnosis ครอบครองไว้นั้นมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นเพลงฮิตติดชาร์ตอันดับ 1 ทั่วโลก ในจำนวนนี้มีอยู่ 5 เพลงที่ติดท็อปเทนของบิลบอร์ด HOT 100 decade chart ได้แก่

  • เพลง Closer ของ The Chainsmokers ft. Halsey
  • เพลง Uptown Funk ของ Mark Ronson
  • เพลง Shape of You เพลงฮิตระดับ 5 พันล้านวิวของ เอ็ด ชีแรน
  • เพลง Girls Like You ของ Maroon 5 ft. Cardi B
  • เพลง Despacito ของ Luis Fonsi & Daddy Yankee ft. Justin Bieber

นอกจากนี้ยังมีเพลงยอดนิยมอีกมากมาย อย่าง Versace on the Floor ของบรูโน มาร์ส, What Do You Mean?, Love Yourself, Baby ของจัสติน บีเบอร์ , Smooth ของ Santana ft. Rob Thomas , Set Fire to The Rain ของ Adele, เพลงของ Missy Elliot ทั้ง 6 อัลบั้ม เพลงของจัสติน ทิมเบอร์เลค 5 อัลบั้ม รวมไปถึงเพลงของนักร้องระดับตำนานอย่าง แบร์รี มานิโลว์

นับถึงขณะนี้มีหลายบริษัทและองค์กรหันมาร่วมทุนกับ Hipgnosis ซื้อลิขสิทธิ์เพลงฮิตเก็บไว้สร้างรายได้ อาทิ Church of England ที่เป็นหนึ่งในนักลงทุนหลายร้อยคนที่ร่วมเป็นเจ้าของเพลงดังอย่าง Single Ladies ของบียอนเซ่, Umbrella ของริฮันนา และ SexyBack ของจัสติน ทิมเบอร์เลค

สำหรับเป้าหมายของบริษัทที่วางเดิมพันไว้กับรายได้ในอนาคตแบบ Hipgnosis นั้น เมอร์คิวเรียดิสหวังว่าบริษัทของเขาจะมีลิขสิทธิ์เพลงในมือราว 60,000 เพลง ซึ่งถ้าไปถึงจุดนั้นได้แล้วเขาจะหยุดการเข้าซื้อเพลงแล้วมุ่งไปที่การนำเพลงฮิตที่มีอยู่ไปใส่ไว้ในวิดีโอเกม รายการทีวี หรือหาศิลปินใหม่ ๆ มาคัฟเวอร์เพื่อให้เพลงเหล่านั้นไม่หายไปไหน แต่ยังปรากฎอยู่ในชาร์ตเพลงฮิตต่อไป

สำหรับคำถามที่ว่ามีแคตาล็อกเพลงไหนที่เขาอยากได้ไว้ในมือหรือเปล่า เมอร์คิวเรียดิสยิ้มแล้วบอกว่า

“ใครๆ ก็ต้องการ เดอะ บีทเทิลส์ (The Beatles) มันเป็นเพลงที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยแต่งกันขึ้นมา ผมคงไม่อยากมีชีวิตอยู่ถ้าหากเดอะ บีทเทิลส์ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้”