"พลังงาน" คาด เปิดรับซื้อไฟโรงไฟฟ้าชุมชน ม.ค.ปีหน้า นำร่อง 100-150 เมกะวัตต์

"พลังงาน" คาด เปิดรับซื้อไฟโรงไฟฟ้าชุมชน ม.ค.ปีหน้า นำร่อง 100-150 เมกะวัตต์

“สุพัฒนพงษ์” ลุยจัดทำหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน หลังครม.ผ่านแผนPDP รับยังไม่สรุปวิธีการคัดเลือก "ประมูล" หรือ "กำหนดราคา" รับซื้อไฟ ด้าน พพ.คาด เปิดยื่นเสนอโครงการเป็น ม.ค.64 เล็งเข้มวางแบงก์การันตี สกัดดัมพ์ค่าไฟ ป้องกันละทิ้งโครงการ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปบรูณาการ 5 แผนพลังงาน คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ให้เป็นแผนเดียวกัน ภายใน 6-8 เดือน

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2563 ได้เห็นชอบ 4 ร่างแผนพลังงานแล้ว คือ แผน PDP ปี 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1(PDP 2018 Rev.1), แผน AEDP 2018,แผน EEP 2018 และแผน Gas 2018 โดยเห็นว่า ควรจัดทำเป็นแผนตามข้อเสนอแนะของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2561 - 2580)

โดยให้จัดทำรายละเอียดแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนในทุกๆ 5 ปี (ปี2561-2565) ซึ่งขณะนี้เหลือเวลา 3 ปี ฉะนั้น กระทรวงพลังงาน จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ช่วงปี 2563-2565 ให้ชัดเจน โดยเป้าหมายดำเนินงานหลักๆในทุก 5 แผน ยังอยู่เหมือนเดิม เช่น เป้าหมายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้มีสัดส่วน 30% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ ภายใน 20 ปี เพื่อให้บรรลุป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2573 ตามข้อตกลงปารีส (COP21) เป็นต้น

160335863816

นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ก็จะเดินหน้าภายใต้กรอบแผน PDP 2018 Rev.1 โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการใหม่ ให้สอดรับกับข้อเสนอแนะ สศช. ที่ให้จัดทำเป็นโครงการนำร่อง รับซื้อประมาณ 100-150 เมกะวัตต์ เพื่อประเมินนผลโครงการก่อน ซึ่งหากหลักเกณฑ์ฯชัดเจนแล้ว ก็จะเสนอคณะกรรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ต่อไป

“ขณะนี้กำลังดูว่าขั้นตอนคัดเลือกโครงการฯ 2 วิธี คือ แนวทางประมูลแข่งขัน หรือ การกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า แต่จะต้องอยู่ภายใต้กรอบเกษตรกรได้รับการประกันราคา และต้องไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน”

160335875897

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ คาดว่า จะสามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้ในช่วงเดือน ม.ค.2564 เนื่องจากขณะนี้ พพ.อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯโรงไฟฟ้าชุมชน ให้สมบูรณ์แบบ หลังจากได้จัดรับฟังความคิดเห็น(โฟกัสกรุ๊ป) เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2563 พบว่า ยังมีหลายประเด็นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย 

คาดว่า จะจัดทำหลักเกณฑ์ฯใหม่เสร็จภายในเดือนต.ค.นี้ และนำเสนอเข้าสู่การพิจารณของ กพช.ในเดือนพ.ย.นี้ จากนั้นทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะต้องดำเนินการออกระเบียบประกาศรับซื้อไฟฟ้าใหม่ฯ และต้องเปิดประชาพิจารณ์ ประมาณ 15 วันตามกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลา ฉะนั้น ทำให้ต้องขยับเป้าหมายเดิมที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในปลายปีนี้ เป็นเดือนม.ค.ปีหน้าแทน

สำหรับหลักเกณฑ์ฯใหม่ เบื้องต้น ยังไม่ได้ข้อสรุปวิธีการคัดเลือกโครงการฯ ว่าจะเป็นการเปิดประมูลแข่งขัน(บิดดิ้ง) หรือไม่ ซึ่งแนวทางนี้หลายฝ่ายยังมีข้อกังวลว่า อาจเกิดการดัมพ์ราคาค่าไฟและสุดท้ายนำไปสู่การละทิ้งโครงการฯ ฉะนั้นในประเด็นนี้ ภาครัฐได้เตรียมแนวคิดที่จะกำหนดให้มีการวางเงินค้ำประกันโครงการ หรือ แบงก์การันตี ให้กับภาครัฐในวงเงินที่สูงขึ้น แต่อยู่ระหว่างกำหนดวงเงินที่เหมาะสม และจะต้องกำหนดบทลงโทษให้เข้มงวด เพื่อป้องกันการละทิ้งโครงการ แต่รัฐจะทยอยคืนเงินค้ำประกันให้ ตามความคืบหน้าการลงทุนในแต่ละระยะที่กำหนดไว้ ซึ่งพบว่า ไม่มีความดำเนินการตามที่กำหนด ก็จะถูกตัดสิทธิและให้ผู้เสนอโครงการลำดับต่อไป ได้สิทธิดำเนินโครงการแทน

รวมถึงต้องวางแบงก์การันตีให้กับวิสาหกิจด้วย เบื้องต้น ควรอยู่ที่ 5,000-6,000 บาทต่อไร่ ซึ่งโรงไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ จะใช้พื้นที่เพาะปลูก 1,000 ไร่ ฉะนั้นหากกำหนดให้โรงไฟฟ้ามีขนาด 6 เมกะวัตต์ ก็คาดว่า จะต้องวางแบงก์การันตีในส่วนนี้ 5-6 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เป็นต้น

“หากเลือกวิธีบิดดิ้ง ก็ต้องดูว่าจะแยกประเภทเชื้อเพลิง หรือ ให้แข่งขันทั้งหมด แต่จะต้องจำกัดสิทธิผู้ประกอบการแต่ละเจ้าว่าไม่ให้ยื่นเสนอโครงการเกิน 3-5 โครงการ และไม่กำหนดโซนแต่จะดูจากความพร้อมของสายส่งเป็นหลัก”

ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ความเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า จะกำหนดให้วิสาหกิจชุมชนต้องถือหุ้นโรงไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 10% ขณะที่ผลตอบแทนชุมชนนั้น รัฐไม่ได้กำหนดรูปแบบแต่ให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนตกลงกันเอง อีกทั้ง ยังป้องการนำโครงการเก่ามาสวมสิทธิ โดยจะต้องเป็นโครงการที่เคยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าผูกพันกันรัฐมากก่อน