'สุรศักดิ์ ศิริบุญ' หัวหน้าพรรคพลัง ยื่นหนังสือจดตั้งพรรคเป็นทางการกับ กกต.

'สุรศักดิ์ ศิริบุญ' หัวหน้าพรรคพลัง ยื่นหนังสือจดตั้งพรรคเป็นทางการกับ กกต.

หัวหน้าพรรคพลัง ยัน พรรคให้ความสำคัญคนรุ่นใหม่ พร้อมวางตัวสมาชิกในการส่งสู้ศึกแข่งขันชนทุกเขตการเลือกตั้งในสมัยหน้า

วันที่ 22 ตุลาคม 2563 เวลา 10.39 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชั้น 2 อาคารบี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายสุรศักดิ์ ศิริบุญ หัวหน้าพรรค นางสาวอัญชิสา เทพทับทิมทอง เลขาธิการพรรค นายชัยพัชญ์ โชติชัยธนเสฐ โฆษกพรรค นางสมพร ไชยมาตย์ รองโฆษกพรรค นางผุสดี กลิ่นทอง  นายทะเบียนพรรค  พล.ต.ชอบ  ตระกูลสม ประธานที่ปรึกษาพรรค  นายสมชาติ นาคบรรจง รองหัวหน้าพรรค นายชัยวัฒน์ ตรีดารา รองหัวหน้าพรรค นายวรพงษ์ คล่องดี รองหัวหน้าพรรค นายวิชิต คำฟู รองหัวหน้าพรรค  นายชัยพงษ์ โฉมเฉลา อดีตประธานสหภาพแรงงานเด็นโซ่ประเทศไทย  รองหัวหน้าพรรค คณะกรรมการปีกแรงงานและยุทธศาสตร์พรรค อาทิ  นายไพศาล อัญญธนา  นายนิรัญ เพ็ชรครุฑ นางสาวพัชรี อภิญญาเกียรติคุณ นายสุเทพ เสงี่ยมศักดิ์ ประธานสภากัญชาแห่งประเทศไทย (จังหวัดปราจีนบุรี)โดยมี นายดามส์ เผด็จดัสกร หรือ “ดามส์ ดัสกร “ พ.ท.ไกรลาศน์ ยวงใยหรือ”ไกรลาศ เกรียงไกร”นักแสดงและคณะผู้ร่วมจัดตั้งพรรคพลังได้ยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 9(3),18 ประกอบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง พ.ศ.2560  ซึ่งเป็นขั้นตอนในการแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนไว้ก่อน โดยมีสำนักงานใหญ่ชั่วคราว เลขที่ 89/40 ถนนพุทธมณฑลสาย 2 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร 

160335266769

นายสุรศักดิ์ ศิริบุญ กล่าวว่า พรรคพลังมีความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายพรรค ชูนโยบายความมั่นคงแรงงาน ส่งเสริมเพิ่มงานทุกสาขาเพื่อยกระดับให้แรงงานทุกสาขาอาชีพไม่ตกงาน นักศึกษาที่เรียนจบใหม่ต้องมีงานทำทุกคน เลี้ยงดูครอบครัวได้ สร้างสหกรณ์ออมทรัพย์แรงงาน  สร้างความมั่นคงภายหลังเกษียณ แก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ GDP มวลรวมของประเทศตกต่ำ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมโรงงานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ลดพนักงานและปิดตัวจำนวนมาก ทางพรรคพลังจะส่งเสริมการลงทุนขยายฐานผลิตในประเทศ โดยนักลงทุนจะได้ไม่ต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ส่วนภาคเกษตร จะยกระดับราคาผลผลิตของเกษตร ประกันราคายางพารา ประกันราคาข้าวและผลผลิตเกษตรอื่นๆให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้เพื่อแก้ปัญหาความยากจนโดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนแปลงในยุคนการเปลี่ยนแปลงยุคดิสรัปชั่นและ New Normal 

ทั้งนี้ทางพรรคพลังให้ความสำคัญแก่คนรุ่นใหม่ เยาวชน นักศึกษาและทุกระดับของวัย เน้นความรู้ความสามารถ ที่สำคัญต้องมีจิตอาสาทำงานให้แก่พี่น้องของประชาชนและเป็นตัวแทนราษฏรอย่างแท้จริง ซึ่งทางพรรคจะเร่งประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งและเปิดรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคเต็มรูปแบบ ตั้งสาขาทุกภาค สาขาทุกจังหวัดรวมทั้งเตรียมตัวสรรหาสมาชิกพรรคพลังมาเป็นตัวแทนของพรรคพลังแต่ละเขต วางตัวในการส่งสู้ศึกแข่งขันชนทุกเขตการเลือกตั้งในสมัยหน้า ซึ่งจะไม่มีการวางตัวลงแข่งขันในระดับท้องถิ่น 
160335268336

นายสุรศักดิ์ ศิริบุญ กล่าวต่อว่า ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 นาฬิกาเป็นต้นไป และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 2 จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 หากพิจารณาสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ตัวแปรสำคัญเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งในการพิจารณาวาระที่ 1 สมาชิกรัฐสภายังประวิงเวลาในการโหวตรับรอง ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมมองว่า เป็นการถ่วงเวลามากกว่าจะใช้ความรอบคอบในการโหวต ทำให้เกิดกระแสต่อต้านนอกสภารุนแรง

จนนำไปสู่ชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี แถมเดินเกมพลาด ใช้ พรก.ฉุกเฉินร้ายแรงปราบปรามผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและเยาวชน จับกุมแกนนำ ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจขยายเป็นวงกว้าง หากยังใช้ พรก. ฉุกเฉินร้ายแรงควบคุมการชุมนุมและใช้ความรุนแรงย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาได้  ขอเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงซึ่งก่อนหน้านี้เคยเรียกร้องให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเปิดประชุมวิสามัญกรณีพิเศษเพื่อใช้กลไกลในสภาเพื่อแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็ว 

ต่อมานายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแจ้งผลการหารือร่วมกับตัวแทน ครม.,หัวหน้าพรรคการ เมือง, คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) และวิปฝ่ายค้าน ให้เปิดอภิปรายทั่วไป คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2563 ในวันที่ 26-27 ต.ค. 2563 เพื่อเปิดให้มีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 165 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอันนำไปสู่การชุมนุมประท้วงรัฐบาลอาจจะขยายวงกว้าง จนนำมาซึ่งความขัดแย้งในระดับชาติที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศตามมา กระบวนการของรัฐสภาจะเป็นความหวังเพื่อคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองและเป็นเวทีที่ชอบธรรมที่สุดทำให้ทุกฝ่ายได้หันมาพูดคุยกันอย่างจริงจังเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ 

ขณะเดียวกันสมาชิกรัฐสภา ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งรัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อให้เกิดความจริงใจ โดยการยกเลิกประกาศในสถานการณ์ฉุกเฉิน และให้ทุกอย่างเดินอย่างปกติ ตามกระบวนการยุติธรรมดีกว่าเพราะเท่าที่ติดตามการชุมนุมก็ยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างที่กังวลกัน แม้ชุมนุมกันเยอะกว้างขวางแต่ยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และยุติการชุมนุมอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้ชัดว่าสถานการณ์ยังสามารถใช้กฎหมายความมั่นคงตามปกติจัดการได้ ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินดำเนินการแต่อย่างใด

นายสุรศักดิ์ ศิริบุญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามคำสั่งของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ที่มีการออกคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 สั่งระงับเผยแพร่-ลบข้อมูล 5 สื่อรวม ‘Voice TV-ประชาไท-เยาวชนปลดแอก นั้น ขอให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเป็นปิดกั้นสื่อลิดรอนเสรีภาพสื่อในการนำเสนอข่าวตามรัฐธรรมนูญโดยให้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และต้องไม่ใช้สื่อของรัฐปลุกระดมให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งทราบว่า วานนี้(21 ตุลาคม 2563) ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้อง ปิดสื่อออนไลน์ หลังเรียกผู้แทนของกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอีเอส มาไต่สวนถึงขั้นตอนปฏิบัติว่าดำเนินการถูกต้องครบถ้วนหรือไม่อย่างไร ปรากฎว่า มีคำสั่งไม่ให้ปิด แพลตฟอร์มออนไลน์ทุกช่องทางของสื่อ 5 องค์กร คือ วอยซ์ทีวี, ประชาไท, The Reporters และ The Standard รวมทั้งเยาวชนปลดแอก เนื่องจากผู้ร้องคือ ดีอีเอสไม่ได้แสดงให้เห็นว่าข้อความใดผิดกฎหมายชัดเจน และรัฐธรรมนูญมีเจตนาคุ้มครองสื่อมวลชนในการเสนอข่าว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสรีภาพในการเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เสนอข่าวตรงไปตรงมา  อย่าใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพทางสื่ออีก