อนาคตสัมพันธ์สหรัฐ-จีนเมื่อ'ไบเดน'นั่งเก้าอี้ปธน.

อนาคตสัมพันธ์สหรัฐ-จีนเมื่อ'ไบเดน'นั่งเก้าอี้ปธน.

อนาคตสัมพันธ์สหรัฐ-จีนเมื่อ'ไบเดน'นั่งเก้าอี้ปธน.โดยไบเดนมองว่า สหรัฐกำลังถูกโดดเดี่ยวในเวทีโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประเทศพันธมิตรกำลังโดดเดี่ยวสหรัฐ นโยบายอเมริกาต้องมาก่อน ทำให้อเมริกาถูกโดดเดี่ยว

ตอนนี้ทั่วโลกกำลังลุ้นว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ หรือว่า โจ ไบเดน ขณะที่ผลสำรวจความเห็นของชาวอเมริกันของหลายสำนักบ่งชี้ตรงกันว่า ไบเดน มีคะแนนนิยมมากกว่าทรัมป์เฉลี่ยประมาณ 10% และนี่ก็เหลือเวลาไม่ถึง14 วัน หากไบเดนได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐจริง สิ่งที่ตลาดและนักลงทุนทั่วโลกจับตามากที่สุดก็คือนโยบายของไบเดนที่มีต่อจีน หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์ได้ประกาศศึกสงครามรอบด้านกับจีนทั้งการค้า เทคโนโลยี และการเมืองตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครตวิจารณ์นโยบายการทูตแบบทรัมป์ ที่ส่งผลให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ของสหรัฐกับหลายประเทศย่ำแย่ รวมถึงคู่แข่งอย่างจีน โดยตลอดระยะการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทรัมป์เปิดศึกกับจีนรอบด้านตั้งแต่การทำสงครามการค้ากับจีน ที่ลงเอยด้วยการลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่กำหนดให้จีนต้องซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐเพิ่มขึ้น 2 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2565 ตลอดจนการดำเนินมาตรการกีดกันบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน เช่น หัวเว่ย ติ๊กต็อก และอีกหลายบริษัท โดยอ้างว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ

นอกจากด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแล้ว ทรัมป์ยังหยิบยกประเด็นการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาวิพากษ์วิจารณ์จีนอย่างรุนแรง หลังจากที่จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง โดยสหรัฐโต้กลับด้วยกฎหมายการยกเลิกสถานะพิเศษของฮ่องกง คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนและฮ่องกง ประณามจีนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ และทวีความโกรธให้กับจีนมากขึ้นด้วยการดำเนินนโยบายทางการทูตกับไต้หวัน ซึ่งขัดต่อหลักการจีนเดียว แถมยังส่งทหารเข้าไปประจำการในทะเลจีนใต้ เพื่อคุ้มครองอาณาเขตและการเดินเรือ ท่ามกลางการแผ่อิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในบริเวณดังกล่าว

“สหรัฐกำลังถูกโดดเดี่ยวในเวทีโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประเทศพันธมิตรกำลังโดดเดี่ยวเรา นโยบายอเมริกาต้องมาก่อน ทำให้อเมริกาถูกโดดเดี่ยว” ไบเดน กล่าว

ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนภายใต้คณะบริหารของทรัมป์ตกต่ำลงอย่างมาก เพราะฉะนั้นหากไบเดนคว้าชัยจากศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ เขาก็จะต้องเผชิญกับผลกระทบและความยุ่งเหยิงที่ทรัมป์สร้างไว้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

160332820588

สำหรับแนวทางและการดำเนินกลยุทธ์กับจีนนั้น บรรดานักวิเคราะห์ต่างเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า ไบเดนจะยังคงมีแนวทางการปฎิบัติบางประการที่แข็งกร้าวกับจีนแบบเดียวกันทรัมป์ ทว่าสิ่งที่ต่างออกไปอาจจะเป็นเรื่องของวิธีทางการทูต

“สก็อตต์ เคนเนดี” ที่ปรึกษาอาวุโสและประธานผู้ดูแลด้านธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ของจีนจากซีเอสไอเอส แสดงความเห็นว่า ไบเดนอาจดำเนินกลยุทธ์บางอย่างตามทรัมป์ เช่น การควบคุมการส่งออก และการจำกัดการลงทุน แต่วิธีดำเนินการจะต่างกันอย่างมาก โดยไบเดนจะผสมผสานระหว่างความร่วมมือและการกดดันจีน รวมถึงการร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศพันธมิตร

แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า สงครามการค้าของทรัมป์และจีนสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลกมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ทั้งยังกลายมาเป็นชนวนความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่าง 2 ขั้วประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐ แม้ว่าไบเดนจะเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน แต่อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครตผู้นี้ กลับมีความคิดเห็นบางอย่างที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับทรัมป์ โดยไบเดนมองว่า จีนต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการปฎิบัติด้านการค้าที่ไม่เป็นธรรม แต่เขาไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงการค้าเฟสแรกของทรัมป์ เพราะมองว่าไม่ได้ช่วยยับยั้งการปฏิบัติดังกล่าวของจีนได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังหันกลับมาเล่นงานเกษตรกรและแรงงานชาวอเมริกันเสียเอง

เพราะฉะนั้น แทนที่จะมุ่งเป้าเพิ่มกำแพงภาษี ไบเดนจะเลือกแนวทางที่ต่างออกไป นั่นคือ การผนึกกำลังกับชาติประชาธิปไตยเพื่อกดดันและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของจีน โดยไบเดนระบุว่า “เมื่อเรารวมกลุ่มกับประเทศพันธมิตรประชาธิปไตย ความแข็งแกร่งของเราจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ผมคิดว่าจีนไม่สามารถที่จะเพิกเฉยกับเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกได้” นี่จึงสะท้อนให้เห็นแนวทางการทำงานร่วมกับนานาชาติในเวทีโลก ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายของทรัมป์ที่ต้องการแยกอเมริกาออกมา

"เอ็ดเวิร์ด อัลเดน“ เจ้าหน้าที่อาวุโสประจำสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศด้านการค้ากล่าวว่า ฝ่ายบริหารของไบเดนจะเน้นการให้ความสำคัญกับปัญหา และร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรมากขึ้น

ขณะที่“แมกซ์ เบาคัส” อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศจีน เชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐจะกลับมาเริ่มต้นใหม่ด้วยการดำเนินนโยบายการทูตแบบเงียบ (quiet diplomacy) รวมถึงการร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรของสหรัฐในตะวันตก ตลอดจนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ดังนั้น ไบเดนจึงมองว่าการละเลยกลุ่มพันธมิตรเป็นช่องโหว่ของทรัมป์ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวอาจมีส่วนสำคัญที่จะทำให้จีนสามารถยอมรับเงื่อนไขของสหรัฐ

“เคลย์ตัน ดูบ” ผู้อำนวยการสถาบันสหรัฐและจีนจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า แนวทางที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง จึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกับพันธมิตรที่สามารถไว้วางใจได้เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลดีกับจีน และความล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงจะเป็นอันตรายกับจีน

ส่วนนยบายด้านการรับมือกับบริษัทเทคโนโลยีของจีนแม้ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัด แต่ไบเดนสัญญาว่าจะรักษาความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ และพร้อมเผชิญหน้ากับความพยายามของจีนที่จะคุกคามผ่านการโจมตีทางไซเบอร์ การบังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยี รวมถึงการล่อลวงให้นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเข้าไปทำงานที่จีน

“สหรัฐจำเป็นต้องแสดงความแข็งกร้าวกับจีน หากจีนหาช่องทางที่จะปล้นเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐและบริษัทอเมริกัน”ไบเดน กล่าว