หุ้นบริหาร-ตามหนี้พร้อมช้อป หลังแบงก์ส่งสัญญาณหนี้ทะลัก

 หุ้นบริหาร-ตามหนี้พร้อมช้อป  หลังแบงก์ส่งสัญญาณหนี้ทะลัก

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่แบงก์ชาติให้ทั้งพักหนี้ –ยืดหนี้ หมดลง 22 ต.ค. 2563 แล้ว ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดความวิตกว่าเจ้าของกิจการหรือลูกหนี้ที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นจะกลายเป็นหนี้เสียทันทีหรือไม่ 

เพราะด้วยสถานการณ์ท่องเที่ยวไม่ฟื้นและยังมีประเด็นการเมืองเข้ามาแทรกจนทำกำลังซื้อไม่ดีขึ้น

รวมทั้งการที่ ธปท. ไม่ต่อมาตรการพักชำระหนี้ที่จะหมดอายุวันที่ 22 ต.ค. นี้ แต่ยังเปิดทางให้ธนาคารสามารถพิจารณาพักหนี้ให้ลูกหนี้เป็นการเฉพาะเป็นรายกรณีได้อีกไม่เกิน 6 เดือนในเบื้องต้น นับจากสิ้นปี 2563 จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งถือว่าดีต่อลูกค้าของธนาคารที่ยังไม่สามารถฟื้นได้จริง

หากแต่ดูจะไม่เพียงพอจากมูลหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว ณ สิ้นเดือนส.ค.สูงมากถึง 6.9 ล้านล้านบาท ระบุว่าสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติแล้วแต่ยังมี 6 % ยู่ระหว่างการติดต่อ ซึ่งสถานการณ์ดูดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมีโอกาสที่กลับมาขาดสภาพคล่องได้อีก

จนกระทรวงการคลังต้องเตรียมนัดหารือแบงก์ชาติ และธนาคารพาณิชย์ จัดมาตรการเพิ่มเติมที่จะช่วยเหลือลูกหนี้เป็นรายกลุ่มมีมูลหนี้รวมกัน 5.5 ล้านล้านบาท มีบัญชีลูกหนี้อยู่ 12 ล้านบัญชี   โดยเป็นหนี้สถาบันการเงินของรัฐ 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 30% ของระบบสถาบันการเงินของรัฐ และในจำนวนนี้เป็นกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่ถือว่าเป็นฟันเพื่องสำคัญในระบบเศรษฐกิจ 2.1 ล้านล้านบาท

หากประเมินจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่รายงานงบไตรมาส 3 ปี 2563 ออกมา กำไรลดลงเป็นไปตามคาดการณ์ แต่ที่น่าสนใจคือแบงก์ใหญ่หลายแห่งที่มีกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต( ECL)เพิ่มมากขึ้นจากไตรมาสก่อน

ทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) 12,955 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 33 % จากไตรมาสก่อนที่ตั้งสำรอง ฯ กว่า 8,000 ล้านบาท และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 9,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.44 % จากไตรมาสก่อน สะท้อนได้ว่าหลังจบมาตรการพักชำระหนี้ – ยืดหนี้ การเร่งตัวของหนี้เสียยังอยู่ในการเฝ้าระวังต่อไปและยังกดดันหุ้นกลุ่มแบงก์ได้อีก

สวนทางกับหุ้นกลุ่มซื้อหนี้บริหารจัดการหนี้กลับกลายเป็นราคาปรับตัวขึ้นแทน หลังจากก่อนหน้ากังวลว่ามูลค่าหนี้ที่จะมีการประมูลออกมาขายจะลดลง บวกกับงบไตรมาส 3 ปี 2563 ออกมาบางบริษัทมีกำไรลดลงจากการไม่สามารถจัดประมูลขายหนี้ได้

ปัจจุบันเริ่มมองเห็นว่าแล้วว่าโอกาสที่หนี้เสียจะเพิ่มขึ้นและทยอยออกมาในระบบมีจำนวนมากในปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ที่น่าจะเข้าไปช้อปหนี้สร้างรายได้มากขึ้น

รายใหญ่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ที่มีเม็ดเงินซื้อหนี้ใหม่เข้ามาบริหาร 10,000-20,000 ล้านบาท มีการซื้อไปแล้ว 8,000 ล้านบาททำให้ยังมีโอกาสเข้ามาซื้อได้อีก รวมทั้งการขยับจากการทำธุรกิจบริหารหนี้เสียไปยังธุรกิจร่วมทุนทั้งธนาคารและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ช่วยบริหารหนี้เสีย หรือการเป็นโบรกเกอร์เพื่อมีรายได้ค่าธรรมเนียม

นอกจากพอร์ตใหญ่ BAM แล้วยังมี บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ที่พึ่งเสร็จการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม 267.45 ล้านหุ้น และเฉพาะเจาะจง 89.15 ล้านหุ้น มูลค่าเพิ่มทุน 232 ล้านบาท เพื่อตุนเงินสดเอารองรับซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่มเติม ท้ายปี 2563-2564

ก่อนหน้านี้มีการออกหุ้นกู้ไปแล้ว 2 ชุด อัตราดอกเบี้ย 4-4.4 % อายุ 3-3.6 ปี มูลค่า 2,100 ล้านบาท สำหรับนักลงทุนรายใหญ่และสถาบัน ซึ่งถือว่าเป็นอีกบริษัทตามทวงหนี้และบริหารหนี้ที่ส่งสัญญาณพร้อมเข้าซื้อหนี้เข้าพอร์ตเพิ่มเติม จากแผนที่จะซื้อหนี้เข้ามาในปีนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งในครึ่งปีแรกซื้อไปแล้วแค่ 2,000 ล้านบาท