กรอ.พาณิชย์ สรุป 15 ประเด็นเร่งด่วนเร่งรัดการส่งออก

กรอ.พาณิชย์ สรุป 15 ประเด็นเร่งด่วนเร่งรัดการส่งออก

กรอ.พาณิชย์ สรุป 15 ประเด็นเร่งด่วน ที่จะต้องเร่งแก้ไขและผลักดัน เพื่ออำนวยความสะดวกการส่งออก นำรายได้เข้าประเทศ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและะเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ว่า ที่ประชุมได้หารือประเด็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย ได้ข้อสรุปออกมาทั้งสิ้น 15 ประเด็น ที่จะต้องเร่งแก้ไขและผลักดัน โดยมีทั้งเรื่องที่จะดำเนินการในทันที เรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้การส่งออกของไทยมีความคล่องตัว นำรายได้เข้าประเทศ

โดยปัญหาทั้ง 15 ประเด็น ได้แก่ 1.การเร่งรัดการส่งออกข้าว ตามที่ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ไทย-จีน ปริมาณ 1 ล้านตัน ล่าสุดได้ส่งมอบแล้ว 7 แสนตัน เหลือ 3 แสนตัน โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกำลังดำเนินการเสนอราคา ซึ่งได้เร่งรัดให้กรมการค้าต่างประเทศติดตามความคืบหน้า 2.การแก้ไขปัญหาการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม ที่ยังติดประเด็นการตรวจสอบมาตรฐาน เช่น ต้องตรวจทุกรุ่น ทำให้การส่งออกติดขัด ซึ่งได้มีการแก้ปัญหาโดยผลักดันให้อาเซียนมีข้อตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการลงนามของแต่ละประเทศ คาดว่าภายในกลางปีหน้าจะเสร็จสิ้น

3.การส่งออกไปอินเดีย มีปัญหาต้องคลี่คลาย หลังจากอินเดียได้ออกมาตรฐานสินค้าเคมีภัณฑ์และปุ๋ยเคมี ที่จะบังคับใช้ต้นปีหน้าถึงกลางปี ทำให้อินเดียต้องมาตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเป็นรายโรงงาน รายสินค้า ได้มอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศไปหยิบยกประเด็นนี้หารือผ่านทางไกลในวันที่ 29 ต.ค.2563 เพื่อแก้ไขปัญหา 4.การส่งออกรถยนต์ที่ผลิตใหม่ มีปัญหาเวลานำรถไปส่งออกที่ท่าเรือ จะติดขัดเป็นรถไม่มีป้ายทะเบียน ทำให้ถูกจับกุม ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศไปหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก เพื่อหาทางออก

160327864830

5.การสร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทยปลอดโควิด-19 จะเร่งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทยผ่านคลิปวิดีโอหลายภาษา หลังจากที่ได้มีการลงนามใน MOU ร่วมกับ 4 กระทรวง คือ พาณิชย์ เกษตร สาธารณสุข และมหาดไทย เพื่อทำมาตรการดูแล 6.การแก้ไขปัญหาต้นทุนขนส่ง เช่น ค่าระวางเรือ ค่าธรรมเนียมเรือ ที่มีราคาสูง หรือการที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยบังคับให้เอกชนใช้ท่าเรือฝั่งที่คับแคบ การเก็บค่าใช้จ่ายผ่านร่องน้ำ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

7.ค่าเงินบาทแข็งค่า ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นำประเด็นปัญหาเข้าหารือใน ศบศ. 8.การแก้ปัญหาเวียดนามเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าน้ำตาลทราย มอบให้กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับผู้ส่งออกน้ำตาลทำคำชี้แจงและแก้ต่างข้อกล่าวหา 9.การช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs จะผลักดันให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ช่วยดูแล 10.การแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนและผ่านแดน ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศ หารือร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันการเปิดด่าน เน้นฝั่งสปป.ลาว และกัมพูชา

 11.ผลักดันเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 ประเทศ ได้แก่ จีน สปปฌ.ลาว และไทย เข้าด้วยกัน โดยให้เน้นการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม สิทธิพิเศษทางภารค้า เพื่อส่งเสริมการส่งออก 12.การผลักดันให้มีผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการค้าชายแดนและผ่านแดน และการส่งออกของไทย โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะไปหารือกับภาคเอกชน เพื่อให้ได้คำตอบว่าจะต้องทำอะไรบ้าง 13.การอำนวยความสะดวกในการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) โดยมอบให้กรมการค้าต่างประเทศรับไปพิจารณาว่าจะให้บริการในช่วงวันหยุดตามที่เอกชนเสนอได้อย่างไร

 

14.การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเดินหน้าเร่งรัดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-สหราชอาณาจักร (ยูเค) ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) และอาเซียน-แคนาดา เป็นต้น โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะผลักดันให้มีการลงนามในเดือนพ.ย.2563 นี้ รวมถึงการร่วมมือกับมณฑลและรัฐต่างๆ เพื่อขยายการค้า และการส่งออก เช่น การลงนามกับมณฑลไหหลำ ของจีน และรัฐเตลังกานา ของอินเดีย และ   15.การผลักดันจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้ส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี

“ 15 ประเด็นนี้ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการแก้ไข และเดินหน้า ถ้าประเด็นใดทำเสร็จ ทำจบ ก็จะเอาออกไป แต่ถ้าประเด็นใดยังค้างอยู่ ก็จะเอาเข้ามาหารือกันอีกว่าติดขัดอะไร หรือถ้ามีประเด็นใหม่ๆ ก็จะนำเพิ่มเข้ามา เพื่อผลักดันแก้ไขต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันการส่งออก และนำรายได้เข้าประเทศ”นายจุรินทร์กล่าว