ปชป.ค้านทำ 'ประชามติ' 2 ครั้ง แก้รัฐธรรมนูญ 60

ปชป.ค้านทำ 'ประชามติ' 2 ครั้ง แก้รัฐธรรมนูญ 60

"ราเมศ" ย้ำหลัก แก้ รธน.60 ยึดประชามติครั้งเดียว เตือน กมธ.ไม่ควรซื้อเวลา

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) .....ก่อนรับหลักการ ว่า หลักการที่สำคัญคือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ประกาศไว้เป็นพรรคการเมืองแรก ในการขับเคลื่อนเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การกำหนดไว้เป็นนโยบายของรัฐบาลอย่างชัดเจน   พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกับพรรคร่วมรัฐบาล และได้ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) .. .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ต่อรัฐสภา และยืนยันว่าร่างดังกล่าวเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทุกประการ

"สาระสำคัญที่แก้ไข คือให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้นและให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อทำการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 แต่อย่างใด จุดยืนของ ..พรรคประชาธิปัตย์จึงมีความชัดเจนที่จะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว"นายราเมศ กล่าว

นายราเมศ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ากรรมาธิการ(กมธ.) บางส่วนมีความเห็นว่า ต้องมีการทำประชามติก่อนรับหลักการ และเมื่อพิจารณาเสร็จแล้วสามวาระก็ให้ทำประชามติอีกครั้ง สรุปคือให้มีการทำประชามติสองครั้ง ต้องบอกว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ระบุไว้ชัดว่าให้มีการทำประชามติครั้งเดียว คือหลังจากพิจารณาครบสามวาระแล้วให้ไปทำประชามติก่อน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ..2560 มาตรา 256(8)มีบทบัญญัติเป็นกรณีเฉพาะที่ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ได้บัญญัติไว้ว่า หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 15 อันว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจึงจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่เสนอได้ คือ การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ความหมายคือต้องถามประชาชนก่อนอยู่แล้วว่าต้องการให้มี สสร.หรือไม่

นายราเมศ กล่าวว่า ถ้าให้มีการทำประชามติก่อนรับหลักการแน่นอนว่าจะถูกตั้งคำถามว่าเป็นการยื้อระยะเวลา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศกับในสถานการณ์ปัจจุบัน และกรอบระยะเวลาการพิจารณาของ กมธ.ก่อนรับหลักการที่กำหนดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เห็นว่า กำหนดกรอบระยะเวลาได้มีความเหมาะสมและได้มีการพิจารณาอย่างรอบด้านพอสมควรแล้ว จึงไม่ควรขอขยายระยะเวลาพิจารณาของคณะกรรมาธิการชุดนี้ออกไปอีก โดยให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เข้าสู่วาระรับหลักการ และดำเนินการตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภากำหนดไว้โดยเร็วที่สุดต่อไป ซึ่งดูจากข้อเท็จจริงแล้ว สามารถนำเข้าตอนประชุมสภาสมัยวิสามัญได้เลย