'ลดกฏระเบียบในญี่ปุ่น'หนุนลงทุนพลังงานสะอาด

'ลดกฏระเบียบในญี่ปุ่น'หนุนลงทุนพลังงานสะอาด

การลดกฏระเบียบในญี่ปุ่นจะช่วยหนุนให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานสะอาด หรือพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และช่วยให้รัฐบาลบรรลุเป้าด้านการใช้พลังงานสะอาดของประเทศได้เร็วขึ้น

“ทาโร่ โคโนะ”รัฐมนตรีด้านการปฏิรูปกฏระเบียบและการบริหารของญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์นิกเคอิ ว่าจะผ่อนคลายกฏระเบียบและลดขั้นตอนยุ่งยากของราชการเพื่อเพิ่มจำนวนที่ตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และลม พร้อมทั้งกระตุ้นให้บริษัทต่างๆเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น จนนำไปสู่การบรรลุเป้าส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ของรัฐบาล

“ผมต้องการปฏิรูปด้านการบริหารจัดการที่ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัว โดยเฉพาะในส่วนของกฏระเบียบต่างๆในอุตสาหกรรมพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ ”โคโนะ กล่าวในโอกาสให้สัมภาษณ์ทางออนไลน์เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนก.ย.

คำกล่าวของโคโนะ สอดคล้องกับผลสำรวจของนิกเคอิ ที่สำรวจความเห็นบรรดาประธานบริษัทญี่ปุ่นที่มองว่า การลดขั้นตอนที่ยุ่งยากของระบบราชการในอุตสาหกรรมพลังงานนำกลับมาใช้ใหม่เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ภาคธุรกิจนี้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่รัฐบาลชุดนี้ควรปรับปรุง

“รัฐบาลชุดนี้ตั้งเป้าที่จะทำให้พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่เป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศแต่หลายบริษัทไม่สามารถลงทุนได้เพราะมีกฏระเบียบมากเกินไป ซึ่งล่าสุด ผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานและเป็นหน่วยงานที่มำอำนาจในการตัดสินใจเร่งหาทางแก้ปัญหานี้ ด้วยการแก้ไขกฏหมายและพิจารณาผ่อนคลายกฏระเบียบต่างๆ”โคโนะ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะสร้างแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์บนที่ดินที่ถูกทิ้งร้างถูกสกัดจากกฏหมายหลายๆข้อ อาทิ พรบ.พื้นที่การเกษตร(Cropland Act )และพรบ.ก่อตั้งสถานประกอบการในภูมิภาคที่สนับสนุนการเกษตร (The Act on Establishment of Agricultural Promotion Regions)ซึ่งจำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดิน

พื้นที่ชายฝั่งทะเลและท่าเรือหลายแห่งในญี่ปุ่นมีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นแหล่งพัฒนาพลังงานลม โดยพื้นที่เหล่านี้หากไม่เป็นที่ดินของรัฐบาลก็เป็นที่ดินสาธารณะ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจะทบทวนกฏระเบียบต่างๆเสียใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ยื่นขออนุญาตในการใช้ที่ดินนั้นๆ และหากการใช้ที่ดินเหล่านี้สำหรับบริษัทที่สนใจมีความง่ายยิ่งขึ้น จะทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ลดลงตามไปด้วย ถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานสะอาด หรือพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่มากขึ้น

นอกจากนี้ ภาคเอกชนในญี่ปุ่น ยังเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนคลายกฏระเบียบให้แก่เรือต่างชาติที่ขนส่งอุปกรณ์ หรือชิ้นส่วนที่ใช้ในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมด้วย

ในปีงบการเงิน 2561 พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ มีสัดส่วน 17% ของพลังงานโดยรวมของญี่ปุ่น ต่ำกว่าในยุโรปที่มีสัดส่วน 30% เนื่องจากญี่ปุ่นมีที่ตั้งที่เหมาะกับการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานลมน้อยมากเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา แต่รัฐบาลตั้งเป้าที่จะผลิตพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ให้ได้ 22-24% ภายในปีงบประมาณ 2573 และพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ ยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักในแผนพลังงานเชิงยุทธศาสตร์ต่อไปของรัฐบาล ซึ่งจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในปี2564

ด้านสมาคมผู้บริหารทางธุรกิจของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้ทางธุรกิจที่ทรงอิทธิพล เสนอนะให้เพิ่มเป้าพลังงานสะอาดเป็น 40% ในเดือนก.ค.พร้อมทั้งบอกว่า กฏระเบียบที่ยุ่งยากของราชการ รวมทั้งการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้ที่ดินทำให้ยากต่อการตัดสินใจลงทุนในธุรกิจนี้