‘สันติวิธี’ เส้นทางที่ตีบตัน

‘สันติวิธี’ เส้นทางที่ตีบตัน

การเจรจรด้วยสันติวิธี พูดคุยด้วยเหตุและผล แม้จะเป็นความหวังที่ริบหรี่ แต่เราต่างภาวนาว่า ไม่อยากให้ทุกฝ่ายใช้ความรุนแรง

การชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ตำรวจปราบจลาจล พร้อมโล่ กระบอง และรถฉีดน้ำแรงดันสูง เข้าสลายการชุมนุม โดยเริ่มจากการกระชับพื้นที่ ประกาศให้เลิกชุมนุม แล้วบอกว่า ได้ทำตามขั้นตอนหลักการสากล

เหตุการณ์วันนั้น ทำให้ประชาชนจำนวนมากหัวใจสลาย เพราะเยาวชนเหล่านี้ก็คือ ลูกหลานของพวกเรา

160320449027

160320451838

กรณีดังกล่าว ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการด้านสันติภาพ อดีตผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่่ตำรวจสื่อสารออกมาว่าได้ปฏิบัติตามหลักการสากล ซึ่งในฐานะคนทำงานด้านนี้ มันไม่ใช่เลย

"วิธีการที่ตำรวจใช้ เป็นวิธีการที่ใช้ปราบจลาจลสำหรับผู้ชุมนุมประท้วงแบบไม่สันติ มีความวุ่นวายเกิดขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้น เจ้าหน้าที่สามารถใช้กระบวนการปราบจลาจลเข้าสลายการชุมนุมได้เลย แต่กรณีที่เกิดขึ้น พวกเขาชุมนุมอย่างสงบและสันติ ไม่มีทีท่าที่จะทำให้เกิดความวุ่นวาย และเป็นการชุมนุมระยะสั้น ไม่ยืดเยื้อ ผู้ชุมนุมก็บอกแล้วว่าจะเลิกตอนสามทุ่ม ตอนสองทุ่ม เจ้าหน้าที่ก็ใช้กระบวนการดังกล่าวจัดการเลย”

  • เจรจาคือทางออก

อาจารย์เอกพันธุ์ บอกว่า ตามแนวทางสันติวิธี การแก้ปัญหาด้วยการเจรจาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความไว้วางใจกันในระดับหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่มีความโปร่งใสหรือสามารถตรวจสอบได้ 

"ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีความไว้วางใจหรือเชื่อใจรัฐบาล อีกทั้งรัฐบาลไม่เคยสนใจข้อเรียกร้อง ยังคงจับกุมคนนั้นคนนี้ว่าเป็นต้นเหตุ เมื่อไม่มีการสร้างความไว้วางใจในระดับหนึ่ง การพูดคุยกันดีๆ ก็ไม่มีทางเกิดขึ้น

"ผมมองว่า คนที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของคน 70 ล้านคน ประชาชนทุกคนต้องได้รับการดูแลทั้งคนที่รักและคนที่เกลียด ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเกินกว่าที่จะควบคุมได้ รัฐบาลก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

160320455576

160320457879

ถ้ารัฐบาลเปิดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น ก็จะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้ เพราะข้อเรียกร้องได้รับการตอบสนอง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีกติกา เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ร่วมกันได้ แต่ตอนนี้มันผ่านจุดนั้นมาแล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ประกาศภาวะฉุกเฉินซ้ำเติมเข้าไปอีก มองเห็นประชาชนเป็นศัตรู ไม่มีความเห็นอกเห็นใจประชาชน ทำให้เกิดความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แล้วยังบอกว่า มีคนไม่หวังดีกับประเทศ เราต้องจัดการให้เรียบร้อย"

ว่ากันว่า ตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) ก็มีการจับกุม ข่มขู่ คุกคาม ติดตาม นักเคลื่อนไหว นักสิทธิมนุษยชน มีการใช้กฎหมายจับกุมและไม่มีความเป็นธรรม

กรณีนี้ อาจารย์เอกพันธุ์ มองว่า หลังล็อคดาวน์โควิด การชุมนุมมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ข้อแรก ให้รัฐบาลหยุดข่มขู่คุกคามประชาชน ข้อสอง แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและให้ประชาชนมีส่วนร่วม ข้อสาม หลังจากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วให้จัดการเลือกตั้งในระบบใหม่ แต่รัฐบาลไม่ได้ตอบสนองใดๆ ต่อข้อเรียกร้องนี้

160320462158

 

160320466317

ในส่วนของทางออก อาจารย์เอกพันธุ์ บอกว่า ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แล้วให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางในการแก้ไขปัญหารัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2560

"สสร.ควรประกอบด้วยคนทุกฝ่าย ไม่ว่าขวาจัด ซ้ายจัด หรือคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยม แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ตอบสนองประชาชน โดยบอกว่ารัฐธรรมนูญนี้ดีอยู่แล้ว เยาวชนคนรุ่นใหม่จึงมองว่า รัฐบาลพยายามซื้อเวลา พวกเขาก็เลยยกระดับการชุมนุม ครั้งนี้จึงมีหลากหลายกลุ่มเข้าร่วม โดยเสนอ 3 ข้อเรียกร้อง 2 หลักการ 1 ความฝัน รัฐบาลต้องนำไปพิจารณาดูว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อคลายปมได้บ้าง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ไม่มีการคลายปมใดๆ "