ปัญหาบ้านเมือง แก้โดยการเมือง

ปัญหาบ้านเมือง แก้โดยการเมือง

ถึงเวลาที่นายกฯจะแสดงความผู้นำอีกครั้งในการนำปัญหาการเมืองที่กำลังจะก่อวิกฤติ แก้โดยการเมือง ผ่านรัฐสภา พร้อมส่งสัญญาณถึง ส.ส.ฝั่งรัฐบาล เพื่อให้นำเสนอแนะอย่างอิสระ หาทางออกจากวิกฤติ และสภาจะกลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เป็นเรื่องที่ดีมาก เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 ตุลาคม 2563 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ออกพระราชกฤษฎีกา เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิกรัฐสภาในการหาทางออกของประเทศ

โดยมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภา ขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไป ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีนี้ รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้” ที่บอกว่าเป็นเรื่องดีเนื่องจากว่าปัญหาของบ้านเมืองวันนี้ รัฐสภาต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา และจบในรัฐสภา เพราะดูเหมือนจะเป็นแนวทางเบื้องต้น ที่จะแก้วิกฤติในยามนี้ 

เพราะสภา เป็นตัวแทนของประชาชนที่รวบรวมความคิดเห็นและเป็นหน้าที่โดยตรง ในการหาทางออก เพราะหากสภาไม่ทำหน้าที่ จะมีหน่วยงานอื่นมาทำหน้าที่แทน ซึ่งนั่นจะสุ่มเสี่ยงต่อการหาทางออกนอกระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อสภามีการหารือแล้ว ฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี เมื่อรับฟังข้อเสนอแนะแล้ว จะดำเนินการต่ออย่างไร กลับไปหารือในส่วนของฝ่ายบริหาร เพื่อได้แนวทางออกที่ดีที่สุด

เพราะเราเชื่อว่าการหาทางออกในระบอบประชาธิปไตย จะทำให้ความเสียหายน้อยที่สุด เนื่องจากการประเมินล่าสุดของรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ยอมรับว่าทำให้เศรษฐกิจสะดุดบ้าง และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ในการเมืองขนาดนี้ทำให้เราต้องยิ่งอดทน ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมืองก็ต้องใช้การเมืองแก้ เพราะทางออกที่ดีที่สุดก็คือการเข้าสู่ระบบและแก้ไข สำคัญที่สุดคือต้องช่วยกันประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินไปให้ได้มากที่สุด

เราเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่นายกรัฐมนตรี แสดงความผู้นำอีกครั้งในการนำปัญหาการเมือง ที่กำลังจะก่อวิกฤติ แก้โดยการเมือง ผ่านรัฐสภา และที่สำคัญนายกรัฐมนตรี ต้องส่งสัญญาณไปถึง ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ให้นำเสนอข้อคิดเห็นอย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ เพื่อที่จะได้รับข้อมูล ข้อเสนอแนะที่ตรงกับข้อเท็จจริง มากกว่าที่จะเกรงใจพรรคร่วมรัฐบาล เพราะหากไม่สลัดออกจากกรอบเป็น ส.ส.รัฐบาล ก็จะไม่สามารถเสนอแนะสิ่งที่ควรจะเป็นได้ทั้งหมด แต่ถึงกระนั้น นายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องส่งสัญญาณออกไป เพื่อให้ได้รับรู้ถึงเจตนาที่จะฟังข้อเท็จจริงมากที่สุด เพื่อนำข้อเสนอแนะหาทางออกจากวิกฤติ และสภาจะกลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง