บอร์ด รฟม.ถกด่วนวันนี้ ศาลคุ้มครองประมูลสายสีส้ม

บอร์ด รฟม.ถกด่วนวันนี้ ศาลคุ้มครองประมูลสายสีส้ม

บีทีเอส เผย ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ประมูลสายสีส้ม จี้ รฟม.ใช้เกณฑ์เดิมยึดข้อเสนอด้านราคาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้าน รฟม.นัดประชุมบอร์ดวันนี้ เตรียมยื่นอุทธณ์ใน 30 วัน

การประมูลรถไฟสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร และการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถตลอดเส้นทางสายสีส้ม (มีนบุรี-บางขุนนนท์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 142,789 ล้านบาท นำมาสู่ข้อขัดแย้งระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลขนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้ซื้อซองเอกสารการประมูลที่เห็นว่าการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์จะไม่เป็นธรรม

ข้อขัดแย้งดังกล่าวนำมาสู่การที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องร้อ รฟม.ต่อศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 และศาลได้นัดไต่วนคั้งแรกไปเมื่อวันที่ 14 ต.ค.2563 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันที่ 20 ต.ค.2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณีที่บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองฉุกเฉิน กรณีคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้ปรับหลักเกณฑ์ประมูลโครงการดังกล่าว ภายหลังเปิดขายซองข้อเสนอไปแล้ว ถือเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“ศาลมีคำสั่งให้ รฟม.ไปใช้หลักเกณฑ์เดิมในการประมูลโครงการ ซึ่ง รฟม.จะต้องกลับไปใช้เกณฑ์การตัดสินคะแนนทางการเงิน 100 คะแนน จากที่ก่อนหน้านี้ปรับมาจะใช้เทคนิค 30 คะแนน และการเงิน 70 คะแนน โดยคำสั่งศาลครั้งนี้ ไม่ได้มีคำสั่งให้ชะลอกระบวนการประมูล เพราะตามคำร้องของบีทีเอส เราไม่ไดขอคุ้มครองชะลอโครงการ แต่ขอให้ศาลคุ้มครองกลับไปใช้เกณฑ์ประมูลเดิม ส่วนเรื่องที่บีทีเอสยื่นฟ้อง ศาลยังไม่ได้มีการพิจารณาตัดสิน คอนนี้ก็อยู่ที่ดุลพินิจว่าศาลจะมีนัดไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่”นายสุรพงษ์ กล่าว

รายงานข่าวจาก รฟม.ระบุว่า คณะกรรมการ รฟม.จะมีการนัดประชุมในวันนี้ (21 ต.ค.) เวลา 9.30 น.โดยจะมีการรายงานคำสั่งศาบปกครอง กรณีของการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม อีกทั้งมีแผนที่คณะกรรมการตามมาตรา 36 จะร่วมประชุมกับ รฟม.เพื่อพิจารณาคำสั่งศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การประเมินที่แก้ไขเพิ่มเติม ของ รฟม.

ทั้งนี้ เบื้องต้น รฟม.เตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันหลังจากคำสั่งศาล เนื่องจากคำสั่งศาลดังกล่าวเป็นเพียงศาลชั้นต้นเท่านั้น และ รฟม.พร้อมต่อสู้คดีในศาลชั้นอุทธรณ์

รวมทั้งในอดีตที่ผ่านมามีหลายคดีที่ศาลสูงสุดจะเห็นต่างจากศาลปกครองกลาง เช่น กรณีกิจการร่วมค้าธนโฮลดิ้งและพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ร้องศาลปกครองให้เพิกถอนการตัดสิทธิประมูลพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางทำให้กลุ่มซีพีเข้าสู่การประมูลได้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่ได้มีปัญหาอุปสรรค โดยหากดำเนินการโดยสุจริต สามารถอธิบายได้ทั้งหมด เพราะเรื่องการก่อสร้างต้องใช้ความละเอียด เนื่องจากเป็นการก่อสร้างที่ลงใต้ดิน และถ้าไม่มีความชำนาญเชี่ยวชาญอาจจะทำให้เสี่ยงต่อความปลอดภัยได้ 

ทั้งนี้ ในการยื่นประกวดราคานั้น ยังไม่ทราบว่าบริษัทใดจะยื่นเสนออย่างไร รวมถึงสิ่งที่บริษัทจะยื่นเสนอมานั้น คณะกรรมการคัดเลือก จะต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบในการดำเนินการ รวมทั้งได้กำชับเรื่องความปลอดภัยในการก่อสร้างรถไฟฟ้ามาโดยตลอด และให้ รฟม.ดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย และยึดหลักธรรมาภิบาล เนื่องจากโครงการนี้ ไม่ใช่โครงการแรก และในอนาคตยังต้องมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าในอีกหลายเส้นทาง ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการเปิดประกวดราคา