อังกฤษจับมือไทยร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

อังกฤษจับมือไทยร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

สหราชอาณาจักรประกาศแผนสนับสนุนประเทศไทยในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หลังเปิดตัว ‘คู่มือเมืองอัจฉริยะ’ ในงานสัปดาห์สมาร์ทซิตี้

สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเปิดตัวหนังสือ‘คู่มือเมืองอัจฉริยะ’ โดยหนังสือคู่มือนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักรและไทยในการร่วมส่งเสริมแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เนื้อหาครอบคลุมภาพรวมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในไทย รวมถึงกรณีศึกษาและความเชี่ยวชาญของสหราชอาณาจักรที่อาจเป็นประโยชน์กับไทย

‘คู่มือเมืองอัจฉริยะ’ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความร่วมมือหลากหลายระหว่างสหราชอาณาจักรและไทยในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย ซึ่งมีอีกหลายโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ ได้แก่โครงการ Global Future Cities Programme ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรและกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตลาดพร้าว วางแผนสร้างศูนย์ข้อมูลเพื่อส่งเสริมการวางนโยบายในกรุงเทพมหานครที่ใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐาน

และจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบคลองบางหลวงและสถานีบางหว้าการจัดอบรบเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะที่จังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี และ ขอนแก่นนอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายของโครงการใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวอย่าง UK Tech Export Academy ของสหราชอาณาจักรในเอเชียแปซิฟิก โดยไทยจะเป็นจุดหมายในการสำรวจตลาดของบริษัทด้านสมาร์ทซิตี้จากสหราชอาณาจักรกว่า 30 รายในปี 2564

เมื่อเดือนมิ.ย. สหราชอาณาจักรได้เปิดตัวเครือข่ายการค้าดิจิทัลซึ่งมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมาย โครงการนำร่องนี้มีระยะเวลาสามปี มีจุดมุ่งหมายส่งเสริมขีดความสามารถในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของสหราชอาณาจักรในเอเชียแปซิฟิก และส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุนในประเทศไทย

160318927169

สหราชอาณาจักรเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วิถีชีวิตแบบเมือง (urbanisation) คือ ความท้าทายใหม่ของศตวรรษ ปัจจุบันประชากรกว่าครึ่งของไทยอาศัยอยู่ในเขตเมือง ขณะที่สถิติทำนายว่าประชากรกว่าร้อยละ 65 ของโลกจะอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เมืองภายใน พ.ศ. 2583 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตในเขตเมืองยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่ง มลพิษ สุขภาพ รวมถึงความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

สหราชอาณาจักรมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างเมืองแห่งอนาคตผ่านการวางผังเมืองและการบูรณาการเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะเข้ากับข้อมูลเปิดและการออกแบบโดยยึดผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง งานวิจัยยืนยันว่าเกือบหนึ่งในสามของเมืองในสหราชอาณาจักรที่มีประชากรมากกว่า 1 แสนคนมีการดำเนินโครงการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเมือง “อัจฉริยะ”

นอกจากนี้ เมืองหลวงของสหราชอาณาจักรอย่างกรุงลอนดอนยังได้รับการประกาศให้เป็นเมืองอัจฉริยะชั้นนำของโลกในการจัดอันดับ IESE Cities in Motion Index ในปีพ.ศ. 2562 หรือเพียง 1 ปีหลังจากที่ลอนดอนประกาศตั้งเป้าหมายและกำหนดโร้ดแมปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะอันดับหนึ่งของโลกเมื่อปี2561

ทั้งนี้ การทำงานร่วมกับไทยและอาเซียนในด้านสมาร์ทซิตี้ คือ ส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของสหราชอาณาจักรในการพัฒนาความร่วมมือกับภูมิภาค

ไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ผมหวังว่าการเปิดตัวคู่มือเมืองอัจฉริยะ และการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญในพื้นที่อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเครือข่ายการค้าดิจิทัลนี้ จะเป็นรากฐานให้เกิดความร่วมมือ รวมทั้งการแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญต่อไปในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสมาร์ทซิตี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีหน้าจะได้ต้อนรับบริษัทอังกฤษที่เดินทางมาสำรวจตลาดไทยกับโครงการ Tech Export Academy”

ด้านธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานกรรมการกำกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)กล่าวว่า “การพัฒนาเมืองอัจฉริยะถือเป็นหัวข้อหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างประชาชนเจ้าของพื้นที่รัฐ และเอกชน เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ การเป็นเมืองน่าอยู่ ทันสมัย ตลอดจนส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ที่ผ่านมา ดีป้า ได้ดำเนินนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขณะเดียวกัน กระทรวงดิจิทัลฯ ได้วางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเป็นแนวทางสู่ประเทศไทย 4.0 ดังนั้นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จึงถือเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายความเจริญสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ