'โหวตล่วงหน้า' นิว นอร์มอล 'เลือกตั้งสหรัฐ'

'โหวตล่วงหน้า' นิว นอร์มอล 'เลือกตั้งสหรัฐ'

"โหวตล่วงหน้า" กลายเป็น "นิว นอร์มอล" ในการเลือกตั้งสหรัฐ หลังจาก "ทรัมป์" และ "ไบเดน" เรียกร้องให้ชาวอเมริกันใช้สทธิลงคะแนนเสียงล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐวันที่3พ.ย.ปีนี้ มีขึ้นในช่วงที่สหรัฐกำลังวุ่นวายกับการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ต้องออกมาตรการต่างๆเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสมฤตยูตัวนี้ให้ได้มากที่สุด หนึ่งในมาตรการที่ว่า รวมถึงการรักษาระยะห่างทางสังคม ที่ล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ และโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต เชิญชวนให้ประชาชนลงคะแนนเลือกผู้นำประเทศได้เลย ไม่ต้องรอให้ถึงวันเลือกตั้งจริง 3 พ.ย.

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังมีชาวอเมริกันจำนวนมากได้ออกมาลงคะแนนเสียงแล้ว ไม่ว่าจะทางไปรษณีย์หรือลงคะแนนด้วยตนเอง โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนตัดสินใจลงคะแนนก่อนเพื่อเลี่ยงความแออัดในวันเลือกตั้งจริง

มหาวิทยาลัยฟลอริดา เปิดเผยว่า นับจนถึงวานนี้ (19ต.ค.)มีชาวอเมริกันลงคะแนนล่วงหน้าไปแล้วประมาณ 27.9 ล้านราย ซึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

แนวโน้มการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงล่วงหน้าที่สูงเป็นประวัติการณ์แบบนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้งหลายคนเชื่อว่า ในปีนี้ จะมีชาวอเมริกันใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งถึง 150 ล้านคน ซึ่งถ้าเป็นจริง จะเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐนับตั้งแต่ปี 2451 เป็นต้นมา

นอกจากเรื่องรักษาระยะห่างทางสังคมแล้ว ยังมีการรณรงค์ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ท่ามกลางสาธารณชนด้วย ซึ่งประเด็นสวมหน้ากากอนามัย เป็นประเด็นที่ถือเป็นจุดอ่อนของประธานาธิบดีทรัมป์ เนื่องจากผู้นำสหรัฐไม่ให้ความสำคัญกับการสวมหน้ากากอนามัยตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19

ล่าสุดมีประเด็นในเรื่องนี้ขึ้นมาอีก เมื่อทวิตเตอร์ สั่งบล็อกโพสต์ข้อความของดร.สก็อตต์ แอตลาส หนึ่งในที่ปรึกษาด้านสุขภาพของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากดร.แอตลาสอ้างว่า หน้ากากอนามัยไร้ประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

ดร.แอตลาส ทวีตว่า “หน้ากากอนามัยได้ผลอย่างนั้นหรือ ผมคิดว่าไม่” นอกจากนี้ ดร.แอตลาส ยังทวีตข้อความที่บิดเบือนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับหน้ากากอนามัย ซึ่งทวิตเตอร์ระบุว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าวถือเป็นละเมิดนโยบายการไม่แชร์ข้อมูลเท็จหรือที่เป็นอันตราย

นอกจากนี้ ข้อความบนทวิตเตอร์ของดร.แอตลาสยังขัดแย้งกับคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (ซีดีซี) ซึ่งแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะที่นักวิเคราะห์มีความเห็นว่า ทรัมป์ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐมา 4 ปีไม่อาจทำอย่างที่พูดคือกำจัดการขาดดุลการค้าของสหรัฐได้ และต่อให้ไบเดน ชนะเลือกตั้งตามที่โพลส่วนใหญ่บอก สหรัฐก็จะใช้นโยบายกีดกันทางการค้าและเผชิยหน้ากับจีนต่อไป

“เอสวาร์ ประสาท” อาจารย์จากคอร์เนลล์ เผยกับเอเอฟพีว่า นโยบายการค้าของทรัมป์เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อเศรษฐกิจสหรัฐเพียงเล็กน้อย แต่ทำลายระบบการค้าพหุภาคี ป่วนพันธมิตรที่เป็นคู่ค้ากันมานาน และเพิ่มความไม่แน่นอน

“ทรัมป์อยู่ในตำแหน่ง 4 ปีทำให้ระบบการค้าพหุภาคีนิยมที่ยึดกฎระเบียบ กำกับดูแลโดยดับเบิลยูทีโออ่อนแอลง” ประสาท กล่าว

ส่วนนักวิเคราะห์อีกราย ให้เครดิตทรัมป์ที่ทำให้คนสนใจจีนมากขึ้นช่วยให้สหภาพยุโรป (อียู)เปลี่ยนนโยบายต่อปักกิ่ง เช่น หลายประเทศยุโรปร่วมวงกับสหรัฐต่อต้านหัวเว่ยไม่ให้เข้ามาทำระบบ 5จี

“บรูเกล” กลุ่มคลังสมองในบรัสเซลส์เชื่อว่า ถ้าไบเดนชนะเลือกตั้งสหรัฐจะเปลี่ยนรูปแบบทางการทูต แต่เนื้อหาอาจไม่เปลี่ยน “ท่าทีทางการค้าของทรัมป์กับไบเดน ไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าประเด็นอื่น”

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันเล่นไม้แข็งกับจีนที่ตอนนี้ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งที่ต้องสกัดกั้น เพราะไม่ยอมพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีอย่างที่หวังเสียที

วิกกี เรดวู้ด จากแคปิตัล อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า “ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี มีแนวโน้มว่าสงครามการค้าจะขยายวง เพราะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนเติบโต เพราะรัฐเข้าแทรกแซงสูงมากแทนที่จะใช้พลังของการตลาด”

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เผยผลสำรวจความเห็นของชาวสหรัฐทั่วประเทศเกี่ยวกับคะแนนนิยมของทรัมป์ และไบเดนว่า คะแนนนิยมของไบเดน อยู่ที่ 53% สูงกว่าคะแนนนิยมของ ทรัมป์ อยู่ที่ 42%