'จีดีพี'จีนขยายตัวหนุนฟื้นเศรษฐกิจโลก

'จีดีพี'จีนขยายตัวหนุนฟื้นเศรษฐกิจโลก

'จีดีพี'จีนขยายตัวหนุนฟื้นเศรษฐกิจโลก ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนเป็นอุตสาหกรรมกลุ่มแรกๆ ที่ฟื้นตัวจากการระบาดของโควิดเพราะต้นทุนกู้ยืมถูกลงและการผ่อนปรนสำหรับซื้อบ้าน

การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของจีนที่ 4.9% ซึ่งมีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการวานนี้ (19ต.ค.)ช่วยเพิ่มความหวังอย่างมากแก่เศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังซวนเซอย่างหนัก จนเรียกได้ว่าอยู่ในภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งรุนแรงที่สุด (Great Depression)

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (เอ็นบีเอส) รายงานว่า จีดีพีไตรมาส 3/2563 ขยายตัว 4.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกันสองไตรมาส เพราะได้แรงหนุนจากอุปสงค์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาด

เศรษฐกิจจีนกลับมาขยายตัวอีกครั้งในไตรมาส 2/2020 หลังจากที่ตกต่ำรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ นับเป็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ขณะที่อีกหลายประเทศยังคงเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากสถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่คลี่คลาย

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. สำนักงานสถิติจีน เปิดเผยว่า ตัวเลขจีดีพีของประเทศขยายตัว 3.2% ในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันในปี 2562 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์จากรีฟินิทีฟคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเติบโตเพียง 2.5%

160314876453

การขยายตัวของจีดีพีครั้งนี้ ทำให้จีน สามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ หลังจากที่เศรษฐกิจในไตรมาส 1/2020 ของจีนหดตัวลง 6.8% หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ของประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ที่มีรุนแรงในช่วงต้นปี 2563 ถือเป็นสถิติรายไตรมาสที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่จีนเริ่มเปิดเผยตัวเลขจีดีพีอย่างเป็นทางการในปี 2465

นอกจากนี้ เอ็นบีเอส ยังรายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นดัชนีวัดภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญว่าขยายตัว 5.8% ในไตรมาส 3/2563 เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากโรงงานต่าง ๆ เพิ่มกำลังการผลิต หลังจากรัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ส่วนในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งพลิกกลับมาฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่หดตัวลง 1.3% ในครึ่งแรกของปีนี้

ถ้านับเฉพาะเดือนก.ย.เพียงเดือนเดียว การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเพิ่มขึ้น 6.9% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งขยายตัวรวดเร็วกว่าในเดือนส.ค.อยู่ประมาณ 1.3% ซึ่งการผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นมาตรวัดกิจกรรมของบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีรายได้ปีต่อปีอย่างน้อย 20 ล้านหยวน (ประมาณ 2.98 ล้านดอลลาร์)

ส่วนยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ปรับตัวขึ้น 0.9% เมื่อเทียบรายปี นับเป็นไตรมาสแรกของปีนี้ที่ยอดค้าปลีกกลับสู่การขยายตัว และเมื่อคิดรวมในช่วงสามไตรมาสแรก ยอดค้าปลีกลดลง 7.2% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 27.33 ล้านล้านหยวน (ราว 4.08 ล้านล้านดอลลาร์) ซึ่งกระเตื้องขึ้น 4.2% จากช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้

นอกจากนี้ เอ็นบีเอส ยังรายงานว่า ยอดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (เอฟเอไอ) ช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 คือช่วงเดือนม.ค.-ก.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% แตะที่ระดับ 43.65 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเทียบเป็นรายปี และเมื่อแยกเป็นรายภาคส่วนอุตสาหกรรม พบว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมปฐมภูมิเพิ่มขึ้น 14.5% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมตติยภูมิเพิ่มขึ้น 2.3%

ยอดเอฟเอไอในภาคเอกชนของจีนในช่วงเดือนม.ค.-ก.ย.ปรับตัวลง 1.5% ซึ่งน้อยกว่าในช่วงเดือนม.ค.-ส.ค.ที่ร่วงลง 2.8% และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ยอดเอฟเอไอ เดือนก.ย.ปรับตัวขึ้น 3.37%

การลงทุนเอฟเอไอ ครอบคลุมถึงการใช้จ่ายด้านทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ เครื่องจักร และสินทรัพย์ที่จับต้องได้ประเภทอื่นๆ

การลงทุนด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนเดือนก.ย.ขยายตัวแข็งแกร่งสุดในรอบ 1 ปีครึ่ง โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการก่อสร้างที่แข็งแกร่ง อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เดือนก.ย.ขยายตัว 12% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. ปี 2562 และขยายตัวรวดเร็วขึ้นจากเดือนส.ค.ที่มีการขยายตัว 11.8% ส่วนช่วงเดือนม.ค.-ก.ย. การลงทุนด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนเพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าในช่วงเดือนม.ค.-ส.ค.ที่ปรับตัวขึ้นเพียง 4.6%

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนเป็นอุตสาหกรรมกลุ่มแรกๆ ที่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่ถูกลงและมาตรการการผ่อนปรนสำหรับการซื้อบ้าน แต่รัฐบาลจีน ยังคงกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ ขณะที่เมืองขนาดใหญ่หลายแห่งของจีนออกมาตรการควบคุมเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนควบคุมกิจกรรมทางการเงินของบริษัทพัฒนาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนตอกย้ำความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19ของทางการปักกิ่ง รวมทั้งการอนุญาตให้โรงงานผลิตทั่วประเทศกลับมาเดินสายการผลิตได้อีกครั้งและถึงแม้บรรดาผู้บริโภคจะใช้จ่ายด้วยท่าทีระมัดระวังมากขึ้นแต่ตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวจีนในช่วงโกลเดน วีค หรือช่วงวันหยุดยาวเนื่องจากวันชาติจีนก็บ่งชี้ว่า ผู้บริโภคชาวจีนกลับมาจับจ่ายใช้สอยกันอย่างคึกคักอีกครั้ง

“ตอนนี้จีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ได้แล้ว และเศรษฐกิจจีนยังคงสดใส มีศักยภาพที่จะขยายตัวต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและคาดว่าการที่เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม” ยี่ กัง ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน กล่าว