ส.อ.ท.เผยดัชนีฯอุตขยับขึ้นต่อเนื่อง 5 เดือน หวั่น COVID-19 ระบาดรอบสอง

ส.อ.ท.เผยดัชนีฯอุตขยับขึ้นต่อเนื่อง 5 เดือน หวั่น COVID-19 ระบาดรอบสอง

เอกชนหวั่น COVID-19 ระบาดรอบสองแม้ดัชนีฯ อุตขยับขึ้นต่อเนื่อง เอกชนหวั่น COVID-19 ระบาดรอบสองแม้ ห่วง SMEs เลิกกิจการหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ต.ค. 63

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ระดับ 85.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 84.0 ในเดือนสิงหาคม 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มีปัจจัยบวกจากอุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวขึ้น รวมทั้งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงที่ผ่านมาช่วยให้กำลังซื้อในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณ การผลิต และผลประกอบการ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในสินค้าคงทนและไม่คงทน ขณะที่ภาคการส่งออกและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเริ่มมีสัญญาณที่ดีภายหลังจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ทำให้ประเทศคู่ค้านำเข้าสินค้าจากไทยได้มากขึ้น

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,301 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนกันยายน 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ   ร้อยละ 55.3, ราคาน้ำมัน ร้อยละ 40.4 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 36.8 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 65.7 และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 42.4

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 93.3 จากระดับ 94.5 ในเดือนสิงหาคม 2563 ทั้งนี้ ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าภายใต้ความกังวลต่อการระบาดรอบ 2 ของโรคโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ หลายประเทศมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไป นอกจากนี้ การสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในเดือนตุลาคมอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธุรกิจและกำลังซื้อในประเทศ

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณผ่านโครงการลงทุนภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 2. ออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ภายหลังการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในเดือนตุลาคม และ3.สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตจากผู้ประกอบการในประเทศ