สศก. พร้อมเป็นเนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตร

สศก. พร้อมเป็นเนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตร

สศก. วางตัวเป็น เนวิเกเตอร์ ชี้นำเศรษฐกิจการเกษตร รวดเร็ว แม่นยำ ใช้ได้จริง ก้าวเป็นศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรแห่งชาติ ในปี 65

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะองค์กรชี้นำการพัฒนาภาคเกษตรและศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรแห่งชาติ ภายในปี 2565 จำเป็นที่จะต้องก้าวให้ทัน ต่อการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ และด้วยบทบาทภารกิจสำคัญยิ่ง ที่รับผิดชอบเป็นหน่วยงานจัดทำ Big Data ด้านการเกษตรของประเทศ จึงต้องพร้อมทั้งสมรรถนะ และศักยภาพบุคลากร เพื่อให้องค์กรเติบโตสู่ Digital Transformation ในยุค New Normal

“ปัจจุบัน โลกก้าวไปอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ทุกองค์กร จึงต้องก้าวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะภาคเกษตร ที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งด้านภัยพิบัติธรรมชาติ โรคระบาดคนและสัตว์ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีนวัตกรรม ดังนั้น การดำเนินงานของ สศก. ต้องเน้นนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม มาประยุกต์ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และในฐานะองค์กรชี้นำการพัฒนาภาคเกษตรและศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรแห่งชาติ จึงทำหน้าที่เป็นผู้นำทาง หรือ ‘เนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตร’ เพื่อชี้แนะข้อมูล ทิศทางแนวโน้มภาคเกษตร ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง”

สำหรับนโยบายการปฏิบัติงาน จะมุ่งเน้นให้ สศก. ขับเคลื่อนงานทั้งด้านข้อมูล วิจัย นโยบาย ประเมินผล และด้านบริหาร อย่างครอบคลุม โดยต้องเป็นหน่วยงานที่พัฒนา เตรียมพร้อม และสามารถรับมือต่อทุกสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อทำหน้าที่เป็นเนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตรให้แก่ประเทศด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ ทั้งภารกิจ 5 ด้าน คือ

ด้านข้อมูล พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศให้รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ นำไปใช้ในการวิเคราะห์ วิจัย จัดทำนโยบายได้อย่างตรงประเด็น ซึ่งการจัดทำ Big data ต้องพัฒนาไปสู่ ระบบการประมวลผลที่มีการวิเคราะห์เชิงลึก (Artificial Intelligence: AI) ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เข้าใจง่าย และนำไปใช้ประโยชน์ได้

ด้านวิจัย ใช้ประโยชน์ได้ มีผลกระทบต่อคนในวงกว้าง สนองต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน ด้านนโยบาย จัดทำและเสนอโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สนองต่อความต้องการและนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ด้านประเมินผล ประเมินผลตามข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

และด้านบริหาร จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลสะท้อนความเป็นจริงให้ทุกภาคส่วนรับรู้ พร้อมทั้งเสนอแนะ แนวทางในการแก้ไขและพัฒนาอย่างชัดเจนและปฏิบัติได้จริง มีการทำงานรวดเร็ว แม่นยำ มีประสิทธิภาพ มีความเป็นทีม ทั้งภายในและภายนอก สศก. ที่สำคัญคือต้องพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ มีความเชี่ยวชาญ เป็นมืออาชีพ

สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของ สศท. 1-12 ให้สามารถทำงานแทนส่วนกลางได้ และไม่ลืมในด้านคุณธรรม จริยธรรม เพื่อมุ่งสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในองค์กร

นอกจากนี้ สศก. จะให้ความสำคัญกับนโยบายหลักของรัฐบาล รวมถึงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีความมั่นคง เศรษฐกิจการเกษตรให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน