ESB สู่ EEC ลดแรงกดดัน 'โลกาภิวัตน์' สู่ 'นวัตกรรม'

ESB สู่ EEC ลดแรงกดดัน 'โลกาภิวัตน์' สู่ 'นวัตกรรม'

"อิสเทิร์นซีบอร์ด" เมกะโปรเจคหนุนส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมจากต่างประเทศในอดีต ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัฒน์ สู่ปัจจุบัน "อีอีซี" เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โครงการที่ดึงนวัตกรรมต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมสู่ New S-Curve

ในอดีตที่ผ่านมา นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยุคแรกๆ ได้เน้นไปที่การส่งเสริมอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า มีการให้สิทธิพิเศษทางภาษี ต่อมามีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งออกและการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้มีการหลั่งไหลของการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก และมีการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมบางประเภทเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ในยุคต่อมา เป็นยุคที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และเป็นแรงกดดันให้ไทยต้องเปิดเสรีการค้า การเงินและการลงทุนไปพร้อมๆ กัน ประเทศไทยจึงมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมซิเมนต์ ปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมัน นโยบายลงทุนเสรีเพื่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก และตามการย้ายฐานการผลิตระลอกสองจากประเทศญี่ปุ่น เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เกิดการพัฒนาในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือที่เรียกกันว่า “โครงการอิสเทิร์นซีบอร์ด” หรือ ESB ซึ่งจากการวางแผนที่ดีทำให้ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและความเหมาะสมของการพัฒนา จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทย

ผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในยุคนี้ ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดัน 2 ด้าน หรือมีสภาพเป็น “แซนด์วิช” ที่ด้านบนถูกบีบจากประเทศพัฒนาแล้วซึ่งสามารถพัฒนาสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน

ขณะที่ด้านล่างก็ถูกบีบจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีค่าแรงถูกกว่า จึงกลายเป็นคู่แข่งสินค้าอุตสาหกรรมของไทยด้วย ในระยะหลังนโยบายอุตสาหกรรมของไทยจึงได้เน้นไปที่การเสริมสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพ การให้ความสำคัญด้านมูลค่าเพิ่ม คุณภาพมาตรฐาน และการออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

จากปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ ปัญหาอุปทานส่วนเกินในหลายๆ อุตสาหกรรม ข้อจำกัดด้านปัจจัยการผลิต เช่น การขาดพัฒนาทักษะแรงงาน นวัตกรรมการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ ประเทศไทยจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องยกระดับผลิตภาพอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น โดยใช้โมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งเป็นการกำหนดเศรษฐกิจใหม่ไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” โดยการเปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “เกษตรหรือโภคภัณฑ์ดั้งเดิม” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม”, เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่ภาคบริการมากขึ้น

ปัจจุบันไทยอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มีการสนับสนุนการลงทุนเพื่อก่อให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ๆ ในภูมิภาค โดยคาดหวังให้พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็น “สปริงบอร์ด” เพื่อตอบโจทย์ “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งจะเป็นห่วงโซ่อุปทานโลกให้กับการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งมีทั้งการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) และการพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve)

ในอนาคต การเดินหน้าสานต่อและพัฒนาอุตสาหกรรมยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งขณะนี้พื้นที่อีอีซีที่ภาครัฐเร่งผลักดัน ก็ได้เดินหน้าไปมากแล้วทั้งโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการหลักและการศึกษาโครงการเชื่อมโยง อาทิ แลนด์บริดจ์-สะพานไทย-ท่าเรือบก การผ่านกฎหมายและนโยบายการลงทุนทั้งเพื่อการต่อยอดการลงทุนและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จึงเชื่อมั่นว่าจะเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้เป้าหมาย “ไทยแลนด์ 4.0” ประสบความสำเร็จ และช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป