'นครบาล' ยัน ม็อบปิดเส้นทางจราจร 4 จุด ส่วน รถไฟฟ้า -ใต้ดิน-แอร์พอร์ตลิ้ง ยังเปิดบริการ

'นครบาล' ยัน ม็อบปิดเส้นทางจราจร 4 จุด ส่วน รถไฟฟ้า -ใต้ดิน-แอร์พอร์ตลิ้ง ยังเปิดบริการ

รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แถลงเตรียมความพร้อมจราจร 4 จุดหลัก ให้ประชาชนวางแผนการจราจรก่อนกลับบ้าน แจงสาเหตุอาจจะต้องปิดสถานีรถไฟฟ้า-รถไฟฟ้าใต้ดิน ต้องพิจารณาบางจุด เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก

 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช.น. และพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตร. ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการดำเนินการของตำรวจและสรุปภาพรวมสถานการณ์การชุมนุมตลอดทั้งวัน 

โดย พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า ตำรวจจราจรนครบาลขอรายงานสถานการณ์ประกอบการเดินทาง เนื่องจากวันนี้เป็นวันจันทร์การเดินทางของประชาชนอาจเกิดผลกระทบกับการเดินทางพอสมควร ซึ่งอาจจะมีการชุมนุมใน 4 จุดด้วยกัน ประการแรกการเตรียมความพร้อมสำหรับการปิดการจราจร ทั้งหมด 4 จุด ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ 1.จุดหลักบริเวณแยกเกษตร กรณีของแยกเกษตรจะกระทบกับถนนพหลโยธินทั้งขาเข้าและขาออก ถนนงามวงศ์วาน และถนนประเสริฐมนูกิจ ถ้าหากมีการลงบริเวณแยกจริงๆ จะต้องปิดการจราจรตั้งแต่แยกรัชโยธิน ส่วนถนนพหลโยธินขาเข้า จะตัดรถที่ซอยพหลโยธิน 49 ส่วนแนวของงามวงศ์วานไปออกประเสริฐมนูกิจบริเวณนั้นมีอุโมงค์ก็น่าจะใช้สัญจรได้ ยกเว้นกรณีมีกลุ่มผู้ชุมนุมก็จะพิจารณาปิดตามสถานการณ์

2.หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เลยบริเวณแยกบางเขนไปบริเวณถนนงามวงศ์วาน ที่มี 4 ช่องทาง มีกลุ่มผู้ชุมนุมหลักร้อยคน อยู่บนฟุตบาธ ถ้าหากมีการปิดการจราจรกระทบจริงๆ จะกระทบกับเส้นถนนงามวงศ์วานขาออก จำเป็นต้องปิดก่อน และถนนวิภาวดีที่จะเลี้ยวซ้ายไปถนนงามวงศ์วาน 3.ใต้สะพานภูมิพล ถนนยานนาวา ซึ่งเชื่อมต่อถนนพระราม3 และถนนสาธุประดิษฐ์ กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมจะลงจุดนั้นก็จะกระทบเฉพาะถนนยานนาวา จะพยายามระบายรถในถนนพระราม

3 และถนนสาธุประดิษฐ์ให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้บริเวณจุดดังกล่าวยังไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด 4.สถานีรถไฟฟ้าMRT กระทรวงสาธารณสุข อยู่บริเวณถนนติวานนท์ ขณะนี้มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณกว่า 100 คน ถ้ากระทบกับถนนจะอยู่ที่ถนนติวานนท์ต่อเนื่องมาในเขตนครบาล บริเวณถนนวามวงศ์วานขาออก ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ถ้าติดต่อเนื่องยาวก็จะกระทบถนนรัชดาภิเษกขาออก ทั้งหมดเป็นการรายงานสถานการณ์การจราจรทั้งหมดขอให้ติดตามใน 4 จุดนี้ เพื่อประกอบในการเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาเลิกงาน ขอให้วางแผนการจราจรให้ดี

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า ระบบขนส่งสาธารณทั้งหมด ขณะนี้ยังไม่มีการปิดให้บริการแต่อย่างใด ทั้ง BTS, MRT, APORT Rail Link ยังเปิดให้บริการทุกสถานี นอกจากนี้เป็นคำวิงวอนจากตำรวจจราจร ในส่วนกรณีที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ตำรวจจราจรจำเป็นต้องไปทำการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนทั่วไป ทั้งนี้เพื่อความสะดวก ความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกับพี่น้องประชาชนทั่วไป ขอให้ทั้งประชาชน และกลุ่มผู้ชุมนุม เข้าใจ ว่าตำรวจจราจรนั้นไปดูแลอำนวยความสะดวกด้านการจราจรเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะเกิดความไม่สะดวก แต่ตำรวจจราจรจะใช้หลักการว่าอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเป็นหลักจนกว่ากลุ่มผุ้ชุมนุมจะลงไปกีดขวางการจราจรทุกช่องทาง จึงจะพิจารณาปิดการจราจร และประชาสัมพันธ์ให้ประชานได้ทราบทุกช่องทาง เพื่อจะได้วางแผนการเดินทางล่วงหน้า ทั้งนี้หากต้องการทราบข้อมูลสถานการณ์การจราจร ว่าจุดใดปิดการจราจรบ้าง รวมถึงเส้นทางเลี่ยง สามารถสอบถามได้ที่โทร 1197 ตลอด 24 ชั่วโมง

พล.ต.ต.จิรสันต์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการปิดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) และรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที (MRT) เป็นการปิดตรงที่มีการชุมนุมในจุดนั้น อาจจะเกิดเหตุหรือความไม่สะดวกและความไม่ปลอดภัย เลยต้องมีการพิจารณาเป็นบางจุด เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ แต่ในการพิจารณานั้นต้องดูในเรื่องของความปลอดภัยเป็นหลัก ก็อาจจะเกิดความไม่สะดวกบ้าง

เมื่อถามว่าที่ผ่านมากลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ทำให้คนอื่นไม่ปลอดภัย พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า อำนาจของ กอร.ฉ การออกข้อกำหนดและประกาศในแต่ละครั้ง ได้มีการพิจารณาในการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก การอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ยกตัวอย่างในการปิดรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีการปิดเป็นห้วงๆบางสถานีบางเวลา ไม่ได้มีการปิดตั้งแต่เช้า ถ้ายังมีการปิดแล้วมีการก่อความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายมากกว่าการเปิดสถานีด้วยซ้ำไป

“ประการที่สองในเรื่องของถนน แม้ว่าจะมีการชุมนุมในบางจุดในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตำรวจจราจรก็ยังไม่ได้มีการพิจารณาในการปิดเส้นทางการจราจรทั้งหมด เนื่องจากเราดูตามสถานการณ์ ในบางกรณีถนนนั้นจะถูกปิดไปโดยปริยายโดยผู้ชุมนุมเอง เราก็มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและก็อำนวยความสะดวกในการเลิกการชุมนุม และในเรื่องของการปิดรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินนั้น เนื่องจากในช่วงแรกมีการทำลายทรัพย์สินที่เป็นของในส่วนรถไฟฟ้า การบังคับใช้กฎหมายของ กอร.ฉ. ทางใดทางหนึ่งต้องส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนแน่นอน แต่จะทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด” รองโฆษกตร. กล่าว
     

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า เพราะถ้าเป็นการสกัดคงห้ามไม่ให้รถวิ่งเลยทั่วกรุงเทพมหานคร ต้องมองกลับไปด้วยว่าการออกข้อกำหนด ข้อบังคับ คำสั่งต่างๆ กระทำเพียงเพื่อให้ส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด การพิจารณามีการกลั่นกรอง ไม่ได้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ฝากเรียนพี่น้องประชนที่สัญจรไปมาใช้รถใช้ถนน การที่คนอื่นไม่สามารถขับรถผ่านแยกได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร ไม่อยากไปโทษกลุ่มผู้ชุมนุม ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลในการปฎิบัติหน้าที่ การออกข้อกำหนดข้อบังคับเป็นไปตามความเหมาะสมความจำเป็นของสถานการณ์จริงๆ