'สุพัฒนพงษ์' ตอบคำถามนักธุรกิจชี้ปัญหา ‘การเมือง’ ต้องแก้ด้วย ‘การเมือง’

'สุพัฒนพงษ์' ตอบคำถามนักธุรกิจชี้ปัญหา ‘การเมือง’ ต้องแก้ด้วย ‘การเมือง’

“สุพัฒนพงษ์” ร่วมประชุมหอการค้าไทย-จีน ชี้ปัญหาการเมืองต้องใช้การเมืองแก้ ข้อเรียกร้องผู้ชุมนุมแก้ได้ด้วยนิติบัญญัติ ระบุไทยเหมือนคนฟื้นไข้ ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันประคองเศรษฐกิจ

การชุมนุมทางการเมืองได้สร้างความกังวลให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกมาแสดงความเห็นให้มีการเจรจาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมประชุมประจำปีของสมาพันธ์หอการค้าไทย-จีน และสมาคมธุรกิจต่างๆ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2563 โดยนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนได้สอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นขอพูดในนามส่วนตัวไม่ใช่ในนามรองนายกฯ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เป็นเรื่องที่เกิดจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยรัฐบาลมีความชัดเจนว่าหากกระทำในกรอบของกฎหมายก็แสดงออกได้ แต่การกระทำนอกกฎหมายต้องมีการดำเนินการ

ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่รู้สึก คือ ไทยเพิ่งผ่านจากสถานการณ์โควิด-19 เหมือนกับทั่วโลกเป็นคนป่วยที่ต้องรักษา แต่ไทยเหมือนพ้นจากโควิด-19 มาและเป็นผู้ป่วยที่พักฟื้นและกำลังจะลุกเดินได้ ซึ่งอาจทำให้ในเศรษฐกิจสะดุดบ้างแต่มองว่าสะดุดไม่นาน 

รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ในการเมืองขนาดนี้ทำให้เราต้องยิ่งอดทน โดยปัญหาการเมืองต้องใช้การเมืองแก้ และในทางการเมืองกำลังแก้ไขก็ปล่อยให้เป็นเรื่องทางการเมือง เพราะทางออกที่ดีที่สุด คือ การเข้าสู่ระบบและแก้ไข แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องช่วยกันประคองเศรษฐกิจให้เดินได้มากที่สุด

“เรื่องที่เกิดขึ้นเศรษฐกิจสะดุดหรือไม่ก็สะดุดบ้าง แต่ผมไม่มองว่าจะสะดุดยาว เราทำหน้าที่ประคับประคอง ในตอนนี้ถ้าเอาประโยชน์บ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ในจังหวะที่ไทยกำลังจะฟื้นจะได้เปรียบก็มาเจอความขัดแย้งทางการเมืองพอดี ซึ่งเรื่องที่ขอกันอยู่ในกระบวนการทางการเมืองก็ไปแก้ทางการเมืองได้ มีการกำหนดระยะเวลาแล้วว่าจะแก้อย่างไร  หรือหากจะขอให้เร็วขึ้นก็ไปพูดคุยกันและมีช่องทางให้แก้ไขได้" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว  

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องทำ คือ ยิ่งต้องอดทนยิ่งต้องช่วยกันไปเที่ยวไปใช้เงินเพื่อประคองเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการรัฐบาลที่ออกมา 3-4 มาตรการยังต้องการให้ประชาชนร่วมมือเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ช่วงปาฐกถาหัวข้อ “การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งสำนักเศรษฐกิจมองไทยว่าเศรษฐกิจเราจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในอาเซียน เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวมาก แต่รัฐบาลพยายามประคองเศรษฐกิจ โดยให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบหลายมาตรการใช้เม็ดเงินไปแล้วกว่า 8 แสน - 1 ล้านล้านบาท

นายสุพัฒนพงศ์ กล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลแม้จะเห็นสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นเมื่อเทียบเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการระบาดระลอก 2 ซึ่งมีความรุนแรงกระจายทั่วประเทศอีก เพราะต้องใช้เงินอีกมหาศาลการแก้ปัญหา โดยหากเกิดจริงจะกระทบสถานะการเงินการคลังระยะยาว  ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ต้องการเพราะต้องการให้ไทยเข้มแข็งเมื่อโควิด-19 คลี่คลายแล้ว 

สำหรับมาตรการที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีนี้ จะประคองเศรษฐกิจช่วงที่เหลือปีนี้ได้  มี 4 มาตรการ คือ

1.โครงการเราเที่ยวด้วยกัน

2.โครงการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

3.โครงการคนละครึ่ง

4.โครงการช็อปดีมีคืน ซึ่งหากทุกมาตรการได้รับความร่วมมือจากประชาชนและภาคเอกชนจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2 แสนล้านบาท 

สำหรับแผนงานปี 2564 รัฐบาลจะเดินหน้าแผนการสร้างรายได้เข้าประเทศ ได้แก่

1.การเดินหน้าชักจูงให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

2.การสร้างความชัดเจนของการเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ

3.การออกกฎระเบียบการให้วีซ่าระยะยาวกับชาวต่างชาติที่เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย

4.การผ่อนคลายมาตรการการกักตัวสำหรับประเทศที่ควบคุมโควิด-19 ได้ดีเหมือนไทย 5.การให้นักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงเข้าประเทศเพื่อสร้างรายได้

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานสภาหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า ไทยกับจีนมีสัมพันธ์ทางการทูตและความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ดีมานาน โดยหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่ปี 2518 มูลค่าทางการค้าไทยจีนเพิ่มขึ้น 3,700 เท่า จากปี 2518 มีมูลค่าการค้าขายร่วมกัน 25 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 97,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 และทั้ง 2 ประเทศตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกันให้ถึง 1.4 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2564 

ทั้งนี้ไทยยังถือว่าเป็นเป้าหมายการลงทุนอันดับต้นๆของนักลงทุนจีนในอาเซียน โดยปี 2563 การลงทุนทางตรง (FDI) ของจีนในไทยเพิ่มขึ้น 4.9% ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อนุมัติโครงการลงทุนจากจีนแล้ว 35,300 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอีอีซี

โดยนักธุรกิจจีนบางรายรอการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เช่น สมาร์ทซิตี้ในฉะเชิงเทราและเมืองพัทยา มูลค่าการลงทุนนับหมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีการผ่อนคลายให้นักลงทุนเข้ามาได้โดยลดระยะเวลาในการกักตัวลงจะมีการเดินทางเข้ามาเพิ่มทั้งนักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวจีน