ศธ.ยกเลิกหลักสูตรฐานสมรรถนะ

ศธ.ยกเลิกหลักสูตรฐานสมรรถนะ

"รมว.ศธ."หารือจุฬาฯ มศว และสพฐ.ปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ ยกเลิกหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการปรับมาก่อนหน้านี้ ระบุหลักสูตรใหม่เขย่าของเก่าใหม่รวมกัน มุ่งเป้าหมายของการผลิตผู้เรียนตามความต้องการของประเทศในอนาคต คาดทันใช้ปี 2565

จากการประชุมหารือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ..2551

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า การปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งต้องการปรับใหม่ โดยจะไม่ใช้ว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะแบบเดิมที่เคยมีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยจะใช้ชื่อหลักสูตรแบบไหนนั้นในเร็วๆนี้ คณะทำงานปรับปรุงหลักสูตรจะสรุปรายละเอียดออกมาเป็นมติอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ส่วนจะหลักสูตรใหม่จะทันใช้ในปีการศึกษา 2565 หรือไม่นั้น อยากให้เป็นเช่นนั้น แต่เมื่อรีบดำเนินการให้เสร็จเร็วก็ต้องมีความรอบคอบในการปรับปรุงด้วย เพื่อให้ผู้เรียนได้ประโยชน์มากที่สุด  

"ยอมรับว่าขอล้มล้างหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการปรับมาก่อนหน้านี้และนำมาเขย่ารวม เพื่อปรับหลักสูตรใหม่ทั้งหมด โดยจะไม่ใช่หลักสูตรฐานสมรรถนะแล้ว แต่จะเป็นการนำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานมาอัดเดทใหม่และเสริมด้วยเทคโนโลยีในอนาคต"นายณัฏฐพล กล่าว

ทั้งนี้ หลักสูตรใหม่จะทำให้เด็กมีทักษะคิดวิเคราะห์เป็น และผู้เรียนมีทางเลือกในการเรียนรู้อย่างหลากหลายมากขึ้นเพราะสามารถเลือกอนาคตได้ด้วยตัวเองว่าอยากจะทำอะไร โดยเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานซึ่งรูปแบบใหม่หลักสูตรการแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะเริ่มตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาระดับปฐมวัย ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งจะแยกสัดส่วนออกมาแต่ละกลุ่มสาระวิชาการเรียนรู้หลักให้มีความเหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงชั้น

โดยมีความเชื่อมโยงหลักสูตรใหม่และหลักสูตรเก่าพร้อมกับผสมผสานการเรียนรู้โลกในศตวรรษที่ 21 หลักสูตรใหม่จะมุ่งเป้าหมายของการผลิตผู้เรียนตามความต้องการของประเทศในอนาคต เช่น การเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์จะพัฒนาเด็กเล็กให้รู้พื้นฐานใดบ้างจนไปถึงเด็กโต ซึ่งหากเด็กไม่ชอบการเรียนวิทยาศาสตร์จะมีกระบวนการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างไรบ้าง หรือหากเด็กมีทักษะพิเศษเก่งด้านวิทยาศาสตร์จะต้องต่อยอดและส่งต่อผู้เรียนด้วยรูปแบบไหน เป็นต้น