หนุ่มสาวเกาหลีใต้เมิน'วิถีทำงานหนัก'

หนุ่มสาวเกาหลีใต้เมิน'วิถีทำงานหนัก'

วัฒนธรรมการทำงานหนักที่หนุนให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้เติบโตอย่างรวดเร็วกำลังกลายเป็นเรื่องของอดีต เมื่อหนุ่มสาวยุคมิลเลนเนียลให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตกับงานมากกว่าความก้าวหน้าในอาชีพ

“ทำไมผมต้องเป็นผู้บริหารเบอร์1ด้วย ผมไม่อยากอุทิศทั้งชีวิตกับเกมที่ได้ไม่คุ้มค่า” ผู้จัดการ วัย 37 ปีจากบริษัทใหญ่สุดแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้กล่าวกับนิกเคอิเอเชียนรีวิวอย่างไม่แคร์

เขาเข้าทำงานในบริษัทเมื่อปลายทศวรรษ 2000 รอคิวขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุด แต่เมื่อเวลาผันผ่านเจ้าตัวกลับเปลี่ยนใจ

“มีคนเข้าทำงานพร้อมกับผมเพียงไม่กี่คนไปถึงจุดนั้น คุณต้องไต่เต้าให้ขึ้นเป็นผู้บริหาร จากนั้นก็ทำงานหนักขึ้นๆ เพื่อให้ได้ผล มันเป็นความสุขจริงเหรอ ไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลย” เจ้าตัวย้ำ

คนทำงานในเกาหลีใต้ล้วนแต่อยากเป็นเบอร์ 1 ของบริษัทกันทั้งนั้น เพราะเงินเดือนพุ่งพรวด มีรถยนต์หรูของบริษัทให้ใช้ เล่นกอล์ฟโดยบริษัทจ่ายให้ แต่ต้องแลกกับข้อเรียกร้องอย่างแสนสาหัส ส่วนใหญ่จึงครองตำแหน่งได้แค่ปีเดียว บริษัทก็ไม่ต่อสัญญาถ้าทำผลงานไม่ได้ตามเป้า

ในอดีตหลายคนตัดใจเกษียณถ้าอายุ 40 ปลายแล้วยังไม่ได้เป็นผู้อำนวยการ เพราะการต้องรับคำสั่งจากหัวหน้าที่อายุน้อยกว่าถือเป็นการทำลายความภาคภูมิใจ และพวกเขายังรู้สึกอึดอัดที่ได้ทำงานเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป

“คนที่บอกว่าไม่อยากเป็นผู้บริหาร อยากเป็นพนักงานธรรมดาไปจนเกษียณมีจำนวนมากขึ้น” ประธานบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งเผย

160308793434

แม้แต่คนวัย 20 เศษก็ร่วมวงเลิกแห่ทำอะไรตามกันในออฟฟิศ พนักงานใหม่วัย 28 ปีจากบริษัทก่อสร้างใหญ่แห่งหนึ่ง รู้สึกไม่สบายใจกับวัฒนธรรมต้องทำตัวเหมือนๆ กันของบริษัท วันหนึ่งเมื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จแล้วเตรียมตัวกลับบ้าน เพื่อนร่วมงานกลับจ้องตาเขม็ง หรือตอนที่หัวหน้าชวนไปรับประทานอาหารเย็นด้วยกันเขาก็ไปแบบไม่เต็มใจ แต่เขาพยายามหลีกเลี่ยงการสังสรรค์หลังเลิกงานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อเอาเวลาไปเล่นกีฬาแทน

160308809911

ผลการสำรวจจากนักธุรกิจ 1,314 คน โดยเว็บไซต์หางาน “ซารามิน” พบว่า 44% ตั้งใจเป็นคนนอก ลดการสังสรรค์หลังเลิกงานให้น้อยที่สุด หากแยกเป็นกลุ่มอายุ 50% ของกลุ่มอายุ 30 ปี และ 44% ของกลุ่มพนักงานอายุ 20 ปี เผยว่า ตั้งใจทำตัวเป็นคนนอก เห็นได้ชัดว่านี่คือเทรนด์ของคนรุ่นมิลเลนเนียลพนักงานวัยไม่น้อยกว่า 50 ปีมีเพียง 29% เท่านั้นที่ตอบแบบนี้

ในแง่ของการกระทำ 78% ตอบว่า เสร็จงานก็ออกจากออฟฟิศเลยเพื่อให้เวลากับตัวเอง ราว 20% ตอบว่าเสียประโยชน์จากการกระทำแบบนี้ เช่น ไม่ได้รับข้อมูลที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม 90% ตอบว่า จะทำตัวเป็นคนนอกต่อไป

ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นมิลเลนเนียลกับรุ่นก่อนหน้า รายงานจากหอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลีพบว่า 67% ของคนวัย 50 ปีและสูงกว่านั้นกล่าวว่า พวกเขาอุทิศตัวให้องค์กรได้ แต่คนวัย 20 ปี มีเพียง 35% วัย 30 ปีมี 34% ที่บอกแบบนี้

ราว 43% ของคนอายุไม่น้อยกว่า 50 ปี บอกว่าการทำงานจนดึกดื่นเพื่อให้ได้ผลงานดีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คนวัย 20 และ 30 ปี กล่าวแบบนี้เพียง 27%

หลายคนที่อายุ 40 - 50 ปีบ่นว่า คนหนุ่มสาวพูดแต่เรื่องสมดุลชีวิตและงาน “แต่พวกเขาไม่ทำงาน ดีแต่ใช้ชีวิต”

คำว่า คนรุ่นมินเลนเนียลนั้นมีหลายนิยาม แต่ในเกาหลีใต้มักนิยามว่าคนที่เกิดช่วงต้นทศวรรษ 80 ถึงสิ้นทศวรรษ 90 แล้วทำไมคนหนุ่มสาวถึงละทิ้งวัฒนธรรมการทำงานหนัก นั่นก็เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจและบริษัทคงที่แล้ว ทำให้พวกเขากังวลเรื่องอนาคต

“ผมไม่คิดว่าบริษัทจะโตต่อไปได้อีก และไม่มีอะไรรับรองว่าผมจะสามารถทำงานได้ตลอดไป ผมต้องหาหนทางดำเนินชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัท” ผู้จัดการวัย 37 ปีรายเดิมกล่าว

คำตอบหนึ่งคือการลงทุน

คนรุ่นมิลเลนเนียลในเกาหลีใต้ชื่นชมการเข้าสู่ตลาดหุ้นมาก จัง เฮยัง ส.ส.จากพรรคยุติธรรม พรรคฝ่ายค้านสายปฏิรูป เล่าว่า ตั้งแต่สิ้นปี 2562 ถึงสิ้นเดือนส.ค.ปีนี้ บัญชีซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้น 4.59 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้เป็นคนวัย 20 เศษ 2.46 ล้านบัญชี

สินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ของคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 134% ในช่วงเวลาดังกล่าว สูงมากเมื่อเทียบกับคนรุ่นอื่นๆ

“คนอายุ 20 กว่าๆ กู้ยืมเงินมาซื้อหุ้น นี่คือสัญญาณเตือนภัย” ส.ส.ฝ่ายค้านกล่าว

หากดูปัจจัยแวดล้อมราคาอพาร์ตเมนต์ในกรุงโซลเพิ่มขึ้น 50% ในช่วง 3 ปีนับตั้งแต่มุน แจอินเป็นประธานาธิบดี ราคาเฉลี่ยทะลุ 1 พันล้านวอน (เกือบ 27 ล้านบาท) ลำพังเงินเดือนอย่างเดียวไม่สามารถหาซื้อที่อยู่อาศัยได้ ประชาชนจึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องลงทุนในหุ้นเพื่อหาเงินมาซื้อบ้านและใช้ชีวิตหลังเกษียณ

ขณะเดียวกันความชื่นชอบของคนรุ่นมิลเลนเนียลผลักดันให้บริษัทต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อซารามินถามว่า เจ้านายในอุดมคติของคนรุ่นใหม่ควรเป็นแบบไหน ส่วนใหญ่ตอบ “เจ้านายที่มีบุคลิกดี” แตกต่างจากคนรุ่นเก่าที่ชอบ “เจ้านายมีความสามารถ”

ด้านผู้บริหารสูงสุดของบริษัทใหญ่ที่ควบคุมแบบกิจการครอบครัวที่เรียกว่าแชโบล ก็กำลังเปลี่ยนแปลงด้วย ผู้บริหารเริ่มปรากฏตัวแบบไม่ผูกเนคไทและปฏิบัติกับคนอายุน้อยกว่าแบบเป็นกันเองมากขึ้น

ผู้บริหารสูงสุดของแชโบลเคยถูกมองว่า สูงส่ง ทุกคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องเชื่อฟังอย่างเดียว แต่เมื่อพนักงานเปลี่ยนรุ่น ถ้าบริษัทยังยึดติดกับวัฒนธรรมการทำงานหนักแบบเดิมจะไม่สามารถดึงความสามารถและพลังจากคนรุ่นมิลเลนเนียลได้ บริษัททั้งหลายต้องพยายายามลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อหาจุดที่เหมาะสมลงตัว