ทำไมต้องฝึก‘สมาธิ’

ทำไมต้องฝึก‘สมาธิ’

ช่วงเทศกาล“กินเจ”หรือช่วงไหนก็ตาม การฝึก"สมาธิ" เป็นวิธีการหนึ่งในการชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ เพื่อเข้าสู่สภาวะจิตเดิมแท้ ไร้ซึ่งตัวตน

หลายคนเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าเป็นคนค้นพบการฝึกสมาธิ และเชื่อว่า วิธีการนี้เป็นของชาวพุทธเท่านั้น นั่นอาจเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก

เพื่อนผู้เขียนคนหนึ่งที่เดินทางไปอินเดีย เพื่อเรียนรู้เรื่องธรรมชาติบำบัด และโยคะ เธอมีโอกาสเข้าคอร์สฝึกสมาธิ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เธอไม่เคยสนใจ เพราะนับถือศาสนาอิสลาม จึงเชื่อว่า การฝึกสมาธิเป็นแนวทางปฎิบัติของชาวพุทธ แต่การเดินทางไปอินเดียครั้งนั้น ทำให้เธอเข้าใจว่า การฝึกสมาธิแม้จะเป็นวิถีของชาวพุทธ แต่ก็เป็นวิถีของคนทั้งโลก

2,000-3000 ปีก่อนคริสตกาล การนั่งสมาธิก็ปรากฎอยู่ในตำราของฮินดูโบราณ และพระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ด้วยวิธีการภาวนานั่งสมาธิ ในยุคที่พระเยซูยังมีชีวิต มีกลุ่มของพระคริสเตียนที่รู้จักกันในนามของ Desert Fathers ที่ตัดจากโลกภายนอกและครองชีวิตแบบเรียบง่าย ก็ใช้วิธีการนั่งสมาธิ เพื่อเข้าสู่หนทางเข้าใกล้พระเจ้า

นอกจากนี้ในช่วงคศ. 1000 ปี วัตรปฎิบัติเก่าแก่ของชาวยิวที่เรียกว่า Cabalism ก็ใช้วิธีนั่งสมาธิเพื่อเข้าถึงพระเจ้า ในเวลาเดียว มุสลิมกลุ่มที่เรียกว่า Sufis ก็นำการนั่งสมาธิเข้าไปรวมอยู่ในพิธีกรรม 

160292106318

จริงหรือ...ใจสงบเพราะสมาธิ ?

แม้ปัจจุบันการนั่งสมาธิจะกลายเป็นเรื่องที่คนยุคใหม่ให้ความสนใจ หลายคนมักบอกว่า ถ้าเครียดหรือมีปัญหา ลองนั่งสมาธิ ยิ่งนานเท่าไหร่ จิตใจก็จะสงบมากเท่านั้น

นั่นเป็นฟากที่ได้นำสมาธิมาใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนอีกฟากไปสู่หนทางแห่งปัญญา เข้าสู่สภาวะจิตที่แท้จริง

สมาธิในมุมท่านติช นัท ฮันห์ ปรมาจารย์แห่งเซน บอกไว้ว่า

“ตามลมหายใจอย่างมีสติ ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดก็ตาม และให้เราอยู่กับปัจจุบัน นั่นก็คือสมาธิอย่างหนึ่งตามแบบพุทธศาสนาแนวมหายาน”

“คนเราควรอยู่กับลมหายใจที่นี่และเดี๋ยวนี้ คุณดื่มชาก็รู้ว่าดื่มชา กินอาหารก็รู้ว่ากำลังกิน แต่ชีวิตส่วนใหญ่ของคนเรามักปล่อยใจไปคิดถึงอดีตและอนาคตอยู่เนื่องๆ ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือเราต้องฝึกฝนจิตให้มีสมาธิระหว่างการทำกิจกรรมนั้นๆ”

อย่างที่เกริ่นมา การนั่งสมาธิ เป็นวิธีการหนึ่งที่นำมนุษย์เข้าสู่สภาวะจิตที่แท้จริง และยังมีคำอธิบายอื่นๆ อีก ยกตัวอย่างบทสนทนาระหว่างพ่อกับลูกที่เขียนไว้ในหนังสือ ภิกษุกับนักปรัชญา 

หลวงพ่อมัตติเยอ (พ่อนักบวช) กล่าวกับ(ลูกนักปรัชญา)ว่า "การทำสมาธิไม่ใช่เพียงลงนั่งสองสามนาที เพื่อให้ได้ความสงบปีติสุข แต่เป็นวิธีการวิเคราะห์และเพ่งพิจารณาที่ทำให้เข้าใจการทำงานและธรรมชาติของจิต อีกทั้งรับรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น"

"เหตุใดจิตจึงเป็นโพรงหรือว่างเปล่า เพราะว่าจิตไม่ได้เป็นอะไรสักอย่าง เป็นแต่ความคิดเท่านั้นเอง ความคิดที่เกิดดับทุกขณะไม่ว่าเราจะคิดถึงคน คิดถึงเก้าอี้ หรือคิดถึงอะไรๆ ก็ล้วนเป็นเพียงกระแสจิตและกระแสจิตจะเป็นอะไรได้ นอกจากจะเป็นกระแสจิตอยู่เท่านั้น ความเป็นนักศึกษา ความเป็นปัญญาชน ฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา อะไรก็ตาม ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ภายในจิต เพราะจิตแท้ไม่ได้เป็นอะไรสักอย่าง แต่เป็นเพียงความว่างเปล่า"พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมมจิตโต)เขียนไว้ในหนังสือ "การเปรียบเทียบแนวคิดของพุทธทาส-ซาตร์" 

160292304768

(อีกวิธีฝึกสมาธิของพระชาวทิเบต)

สมาธิ : ทางวิทยาศาสตร์

เทคนิคที่นำมาใช้พัฒนาชีวิตในช่วงหลายพันปีก็คือ การทำสมาธิ ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว ก็เพื่อหยุดการทำงานของจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก เพื่อให้จิตเหนือสำนึกได้ทำงาน

เคยมีการทดลองวัดการไหลเวียนของเลือดไปสู่สมองของผู้ที่กำลังทำสมาธิ พบว่า ในสภาวะตอนนั้นเลือดไหลเวียนไปสู่สมองเพิ่มขึ้น 35% นั่นหมายถึงเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น สมองปลอดโปร่ง จิตใจสงบเยือกเย็น 

ต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า สมองคนเรา ประกอบด้วยเซลประสาทหลายพันล้านเซลล์ แต่ละเซลล์มีหน้าที่สร้างกระแสไฟฟ้าเล็กๆ เมื่อรวมกันก็ทำให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือคลื่นสมอง ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามจิตใจหรือสภาวะอารมณ์ในช่วงนั้นๆ

นอกจากนี้เคยมีการใช้เครื่องมือวัดคลื่นสมอง พบว่า คลื่นสมองที่เกิดจากสภาวะจิตสำนึกตื่นตัวตามปกติคือ คลื่นเบตา ซึ่งมีจังหวะไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากจิตใจอยู่ในภาวะกระสับกระส่าย

แต่ในช่วงนั่งสมาธิ คลื่นสมองจะเปลี่ยนเป็นคลื่นอัลฟา มีจังหวะช้าลง ถ้าฝึกไปถึงจุดหนึ่ง ความถี่ที่ช้าลงเรื่อยๆ ก็จะเข้าสู่สภาวะจิตเหนือสำนึก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เป็นสภาวะที่จิตสงบ

เพราะโดยปกติแล้ว คนเราหายใจเฉลี่ยนาทีละ 18 ครั้ง ส่วนใหญ่จะหายใจเร็วๆ และไม่สนใจลมหายใจที่ปล่อยออกมา ดังนั้นถ้าหายใจช้าๆ ลึกๆ สามารถจะทำให้หัวใจที่ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิต นำออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้มากขึ้น

จึงไม่แปลกที่โยคีสมัยก่อนจะฝึกควบคุมลมหายใจ จนสามารถทำให้หัวใจหยุดเต้นชั่วขณะหนึ่งได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์ใดๆ 

...................

(ข้อมูลบางส่วนจาก : วรากรณ์ สามโกเศศ เครื่องเคียงอาหารสมอง)