โซ่อุปทานสีเขียวในธุรกิจค้าปลีก

โซ่อุปทานสีเขียวในธุรกิจค้าปลีก

เมื่อธุรกิจค้าปลีกที่กำลังตื่นตัวต่อการลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อระบบนิเวศน์อันเกิดจากกิจกรรมโลจิสติกส์และกระบวนการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจตลอดโซ่อุปทาน !

วิกฤติสภาวะโลกร้อนเป็นวาระแห่งโลกที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจค้าปลีกที่กำลังตื่นตัวต่อการลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อระบบนิเวศน์อันเกิดจากกิจกรรมโลจิสติกส์และกระบวนการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจตลอดโซ่อุปทาน โดยเฉพาะการได้รับแรงผลักดันจากผู้บริโภคที่ก็หันมาใส่ใจต่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสินค้าและบริการที่ได้รับมากขึ้น

ไฮเปอร์มาร์เก็ตหรือดิสเคาน์สโตร์ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ผู้บริโภคต้องอาศัยในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน ซึ่งการที่มีเครือข่ายสาขากระจายตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตสินค้าโดยตรง และต้องพึ่งพาระบบโลจิสติกส์อย่างเข้มข้นในกระบวนการกระจายสินค้า ทำให้ไฮเปอร์มาร์เก็ตถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีส่วนในการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ต่างจากภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์

ตัวอย่างเช่น กรณีของห่าง Walmart ที่ถูกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อต้านในอดีต จนต้องเริ่มหันมาสร้างความร่วมมือกับซัพพลายเออร์ในปี 1989 ด้วยการเสนอสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือย่อยสลายได้จนไปถึงการทำแคมเปญด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา หรือในกรณีของประเทศไทยที่ผู้ประกอบการไฮเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ อย่าง เทสโก้ โลตัส ก็ได้มีมาตรการมากมายเพื่อลดการปล่อยของเสียและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ธรรมชาติ

มีรายงานการศึกษาว่าการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ของธุรกิจค้าปลีกสามารถสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการผลิตพลังงานและกิจกรรมการขนส่ง 2) ก๊าซพิษ เช่น ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และ ฝุ่น PM10 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของคน พืชผลทางการเกษตร และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ 3) มลภาวะทางเสียง ซึ่งเกิดจากยานพานะสำหรับใช้ในการขนส่งและศูนย์กระจายสินค้า 4) อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากรถบรรทุกสินค้า ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมต่อสังคม 5) ของเสีย/สิ่งปฏิกูล ทั้งในรูปของบรรจุภัณฑ์ไปจนถึงสินค้าชำรุดหรือหมดอายุที่ต้องถูกนำไปฝังกลบ ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซมีเทนที่สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม หรือนำไปเผาในเตาเผา ซึ่งทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และ 6) การลุกล้ำทางสายตา จากภาพของรถบรรทุกสินค้าและโกดังเก็บสินค้าที่ทำให้ทัศนียภาพด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนเสียไป

จะเห็นได้ว่าธุรกิจค้าปลีกสามารถช่วยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและการสร้างปัญหาโลกร้อนได้อย่างมาก โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ต้องจัดการกับสินค้าจำนวนมากจากซัพพลายเออร์ไปยังร้านสาขาที่ผ่านมา จึงได้มีการเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการไฮเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกในการพยายามหามาตรการเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยไม่เพียงแต่มุ่งปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์ขององค์ตนเอง แต่ขยายความพยายามไปถึงหน่วยงานอื่นๆ ในโซ่อุปทาน โดยเฉพาะซัพพลายเออร์และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ จึงเป็นที่มาของ 'การจัดการโซ่อุปทานสีเขียว' ที่อาศัยความร่วมแรงร่วมใจของทุกหน่วยงานในโซ่อุปทานที่ประกอบด้วย ซัพพลายเออร์หรือผู้ผลิตสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า ร้านค้าปลีก และลูกค้า เพื่อการลดผลกระทบในเชิงลบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดโซ่อุปทานและวงจรชีวิตของสินค้า

ซึ่งในบทความหน้า เราจะมาคุยกันถึงรายละเอียดของแนวทางในการสร้างสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการจัดการโซ่อุปทานสีเขียวของธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลก ผลประโยชน์ที่ได้รับ ตลอดจนเปรียบเทียบกับความพยายามของผู้ประกอบการไทย ว่าตอนนี้เราให้ความสำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมกันไปถึงไหนแล้ว และมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเป็นค้าปลีกสีเขียวอย่างแท้จริง