BAM ส่องวิกฤติโควิด หนี้เสียส่อแตะ ‘2 ล้านล้าน’

BAM ส่องวิกฤติโควิด หนี้เสียส่อแตะ ‘2 ล้านล้าน’

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตและภาวะเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง จึงไม่แปลกที่หลายคนนำเอาวิกฤติรอบนี้มาเปรียบเทียบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเคยประสบมาในช่วง 20 กว่าปีก่อนหน้านี้อย่าง “วิกฤติต้มยำกุ้ง”

“บรรยง วิเศษมงคลชัย”ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ในฐานะผู้คว่ำหวอดในวงการธุรกิจบริหารสินทรัพย์หรือ AMC มาอย่างยาวนาน ออกมาประเมินว่าวิกฤติในครั้งนี้น่าเป็นห่วงว่าจะหนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งในแง่หนี้สินที่จะทะลักออกมาหลังจากนี้

โดยหากจะเปรียบเทียบทั้งสองวิกฤตินั้นดูจะมีลักษณะแตกต่างกัน เพราะช่วง“วิกฤติต้มยำกุ้ง”เกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็วกว่า ประกอบกับประเทศไทยมีการประกาศลดค่าเงินบาทและมีหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก รวมถึงภาคธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ในเวลานั้นค่อนข้างอ่อนแอ เนื่องจากเงินกองทุนต่ออัตราหนี้เสียอยู่ในระดับต่ำจึงทำให้มีแบงก์และธุรกิจไฟแนนซ์ถูกปิดไปหลายราย เพราะรับมือไม่ทันและทำให้ระบบการเงินมีปัญหา

อย่างไรก็ตามยังมีข้อดีจากหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังต่ำและธุรกิจขนาดเล็กๆยังไม่ได้โดนผลกระทบมาก รวมถึงเป็นปัญหาลักษณะเฉพาะ เพราะไม่ได้เกิดวิกฤติกันทั่วโลก

ขณะที่“วิกฤติโควิด-19”ในปัจจุบันมีผลกระทบวงกว้างและลุกลามไปทุกอาชีพ รวมถึงส่งผลกระทบไปทุกประเทศทั่วโลก แต่ยังมีข้ออุ่นใจคือระบบแบงก์ที่ยังแข็งแรงและมีเงินกองทุนที่เพียงพออยู่เพราะยังไม่มีสัญญาณว่าแบงก์ไหนที่ส่อแววว่าจะแย่ก่อน รวมถึงเหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นรวดเร็วเหมือนวิกฤติปี2540 ทำให้แต่ละคนมีเวลาตั้งตัวและรู้ว่าสถานการณ์จะซึมยาว

นอกจากนี้ยังมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการหนี้เสียมากว่า 20 ปี รวมถึงมีบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ปัจจุบันกว่า 66 แห่ง (จากวิกฤติปี 40 ที่ไม่มีเลย) ซึ่งแอคทีฟหลักๆอยู่ประมาณ 6 แห่ง

“ที่น่าเป็นห่วงคือวิกฤติครั้งนี้กระจายไปทั่ว ซึ่งคนจนและคนรวยถูกผลกระทบหมด แตกต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งที่กระทบแค่นักธุรกิจ โดยคาดว่าอาจต้องใช้เวลา 3 ปีกว่าจีดีพีไทยจะฟื้นกลับมาเท่ากับปี 2562 ซึ่งก็ต้องไปดูว่าใครจะทนไหวในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ที่เงินไม่มีและงานหด มันจึงโยงมาที่เรื่องหนี้เสียและสถาบันการเงิน”

นายบรรยง กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) อยู่ในระบบประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.05% ของสินเชื่อทั้งระบบ แต่เชื่อว่าตัวเลขหนี้เสียจะกระโดดขึ้นมาระดับ 3% กว่าๆหลังหมดโครงการพักต้นพักดอกหรือเรียกว่าช่วง “ฮอลลิเดย์พีเรียด” ประมาณสิ้นเดือนก.ย.นี้ ซึ่งต้องดูว่าใครจะทนต่อไหวหรือไม่ แต่หนี้เสียที่เข้าโครงการมีตั้งเกือบ 40% ของสินเชื่อทั้งหมด โดยตอนนี้มีมูลหนี้ที่เข้าโครงการดังกล่าวกว่า 7.2 ล้านล้านบาท จากสินเชื่อทั้งระบบ 16 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่าเฉลี่ย 10 คนที่ขอสินเชื่อเข้าฮอลิเดย์พีเรียดแล้วประมาณ 4 คนถือว่าเป็นจำนวนเยอะมาก

ขณะที่ประเมินว่าคนที่เข้าโครงการมีโอกาสที่จะเป็นหนี้เสียสัดส่วนราว 20% จากมูลหนี้ที่เข้าโครงการทั้งหมด หรือจะคิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งหากรวมกับหนี้เสียเดิมในระบบที่มีอยู่จำนวน 5 แสนล้านบาท คาดว่าทำให้หนี้เสียทั้งระบบพุ่งแตะระดับ 2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของสินเชื่อทั้งระบบและถือว่าหนี้เสียในครั้งนี้จะเท่ากับหนี้เสียเมื่อตอนวิกฤติต้มยำกุ้งแล้ว ซึ่งตอนนั้นมีสินเชื่อทั้งระบบอยู่ที่ราว 4 ล้านล้านบาท และหนี้เสียราว 2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 50% ของสินเชื่อทั้งหมด

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า มูลหนี้เสียทั้งหมดคงไม่ได้ทะลักมาทีเดียว เพราะแบงก์มีขั้นตอนที่ยังแข็งแรงกว่าเมื่อก่อนและรองรับหนี้เสียได้มาระดับหนึ่ง ประกอบกับเชื่อว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐทยอยออกมา เพราะเขารู้แล้วว่าต้องติดเบรก ถ้าปล่อยออกมาทีเดียวมันจะเร็วไป เพื่อให้บางส่วนฟื้นหรือซื้อเวลา และอาจยังมีมาตรการใหม่ๆเพื่อให้แบงก์มีวงเงินอัดฉีดลูกหนี้ได้ รวมถึงมีธุรกิจ AMC ที่มีวิธีจัดการและบริหารไม่ให้ทรัพย์เสียหายได้มากขึ้น จึงเชื่อว่าจะช่วยลดความรุนแรงของหนี้เสียที่จะออกมาได้

ส่วนด้านการเตรียมความพร้อมในการรองรับหนี้เสียนั้น บริษัทได้เตรียมความพร้อมขององค์กรทั้งด้านทรัพยากรคนและเรื่องแหล่งเงินทุนที่จะไปซื้อหนี้เข้ามา โดยมีการเตรียมเงินไว้บางส่วนที่เป็นเงินทุนหมุนเวียนและมีวงเงินการออกหุ้นกู้ที่ขอมติผู้ถือหุ้นไว้ประมาณ 25,000 ล้านบาทภายในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งทำให้ศักยภาพอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทหากรับรู้สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (DTA) อยู่ประมาณ 2 เท่า หรือทำให้บริษัทสามารถก่อหนี้ได้เกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอ เพราะทุกปีบริษัทสามารถมีรายได้เข้ามาโดยเฉลี่ยราว 15,000 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้คาดว่าปีนี้แบงก์จะเอาหนี้เสียออกมาประมูลขายมากกว่าปีก่อน ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะมีมูลค่า (เงินต้นคงค้าง) รวมกว่า 1 แสนล้านบาท จากปกติที่อยู่ราว 7-8 หมื่นล้านบาท ส่วนด้านราคาหนี้เสียที่แบงก์นำออกมาขายในปัจจุบันก็ถูกลงกว่า 5-10%ซึ่งเหตุผลไม่ได้มีใครกดราคา แต่เป็นเพราะสภาพตลาดและกำลังความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วย เพราะวันนี้ซื้อหนี้มาอาจต้องทิ้งไว้อีก 1 ปีกว่าจะเข้าไปเจรจาลูกหนี้ได้ เนื่องจากกว่าลูกหนี้จะกลับมามีกำลังผ่อนจ่ายเท่าเดิมอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งคนซื้อก็ต้องแบกต้นทุน เพราะเราก็มีต้นทุนในการออกหุ้นกู้และมีการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ ซึ่งต้นทุนตรงนี้ก็ต้องถูกผลักไปในราคาซื้อ

“ราคาส่วนลด 5-10% ถือเป็นระดับที่เราโอเค เพราะคิดว่าเป็นการสะสมปัจจัยการผลิตในวันข้างหน้า ซึ่งเราเลือกเก็บและรอเวลา แต่ก็มีความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วหรือช้าและโอกาสจะกลับมาไหมทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราเลือกซึ่งหากเราเลือกกลุ่มเอสเอ็มอีเยอะแล้วเศรษฐกิจมันกลับมามันก็ได้ผลตอบแทนเยอะเหมือนกัน เพราะเป็นกลุ่มที่สะท้อนต่อเศรษฐกิจได้รวดเร็ว และบริษัทเราก็เน้นหนี้ที่มีหลักประกัน ซึ่งจากที่เราเดินนโยบายนี้มา 20 ปี ทำให้สัดส่วนหนี้ที่มีหลักประกันค่อนข้างสูง จากปัจจุบันมีหนี้ทั้งหมด 8 หมื่นล้านบาท แต่ของที่เราถืออยู่เป็น NPA ราว 5.5 หมื่นล้านบาท และใน NPL ที่บริหารมีหลักประกันอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเซฟ เพราะเศรษฐกิจไม่ดีเราก็พอไหว และผู้ถือหุ้นเราก็อุ่นใจในแง่มีของ”