เลี่ยงหุ้น ‘ห้าง-โรงแรม’ ย่านราชประสงค์ หวั่นชุมนุมยืดเยื้อรุนแรง

เลี่ยงหุ้น ‘ห้าง-โรงแรม’ ย่านราชประสงค์  หวั่นชุมนุมยืดเยื้อรุนแรง

อุณหภูมิทางการเมืองกำลังร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง หลังมวลชนจำนวนมากในนาม “คณะราษฎร” ออกมาชุมนุมประท้วง พร้อมประกาศข้อเรียกร้อง 3 ประการ โดยต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก

รวมทั้งให้รัฐสภาเปิดประชุมวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

ถือว่าวินาทีนี้ปัจจัยการเมืองกลับมามีน้ำหนักมากขึ้น เพราะยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเหตุการณ์จะลุกลามบานปลายแค่ไหน? จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นหรือไม่? ถือเป็นความไม่ชัดเจนที่ตลาดหุ้นไม่ชอบ นักลงทุนส่วนใหญ่จึงใช้จังหวะนี้ขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยงออกมาก่อน กดดันบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม

แม้ว่าการชุมนุมทางการเมืองจะไม่ใช้เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ทุกๆ ครั้งที่มวลชนจำนวนมากออกมาชุมนุมประท้วงก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่น เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ยิ่งปีนี้เราบาดเจ็บสาหัสจากวิกฤตโควิด-19 ก็คงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองเข้ามาซ้ำเติม

หากย้อนกลับไปดูการชุมนุมทางการเมืองในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไม่น้อย โดยข้อมูลจากบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า การชุมนุม 5 ครั้งย้อนหลัง นับตั้งแต่ปี 2549-2557 กดดัน SET Index ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 11.19% 

โดยการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนายกทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 SET Index ลดลง 6.75% ส่วนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเมื่อปี 2551 หุ้นไทยดิ่งหนัก 55.13%, การชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2552 หุ้นไทยปรับตัวขึ้น 2.32%, การชุมนุมกลุ่ม นปช. ปี 2553 ตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 6.12% และการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. หุ้นไทยติดลบ 2.51%

สำหรับการชุมนุมที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางธุรกิจ การค้า แหล่งชอปปิ้งชั้นนำของกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อบรรดาผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยเฉพาะศูนย์การค้า ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ซึ่งหลายบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย

“กลุ่มเซ็นทรัล” ดูจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะมีทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม อยู่ในพื้นที่ อย่าง “เซ็นทรัลเวิลด์” ซึ่งต้องปิดให้บริการเร็วขึ้น กระทบทั้ง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ในฐานะผู้ให้เช่าพื้นที่ ซึ่งเซ็นทรัลเวิลด์คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 14% ของ CPN

และ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ในฐานะเป็นผู้รับบริหารพื้นที่ศูนย์การค้าของเครือเซ็นทรัล และร้านค้าอื่นๆ เช่น เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์, เพาเวอร์บาย, ซุปเปอร์สปอร์ต ฯลฯ

นอกจากนี้ กลุ่มเซ็นทรัลยังมีศูนย์การค้าในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 2 ศูนย์ ได้แก่ เซ็นทรัล ชิดลม และ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี รวมทั้งโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ของบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ซึ่งแน่นอนว่าหากการชุมนุมที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ยืดเยื้อ หรือเกิดความรุนแรงขึ้นดังเช่นในอดีต ผลกระทบจะยิ่งมากขึ้น

ยังมีห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ราชดำริ ของริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, ศูนย์การค้าเดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ และเดอะ มาร์เก็ต แบงคอก โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ ของบริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PLAT

โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ และ ศูนย์การค้าเอราวัณ แบงค๊อก ของบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW ส่วนบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT มีโรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ไม่ไกลจากพื้นที่ชุมนุม

ถือว่าปีนี้เป็นปีที่ไม่ค่อยจะสดใสสำหรับธุรกิจค้าปลีก เพราะก่อนหน้านี้ช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักๆ ต้องปิดห้างไปแล้วหลายวัน รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติแทบไม่มี หลังรัฐบาลใช้ยาแรงปิดประเทศมาเกือบ 7 เดือน ส่วนกำลังซื้อในประเทศลดลงไปตามภาวะเศรษฐกิจ

ส่วนโรงแรมที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม ปัจจุบันแทบไม่มีลูกค้าเข้าพักอยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่เป็นโรงแรม 5 ดาว ลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งไม่สามารถเข้าประเทศได้ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ยิ่งมามีการชุมนุมในพื้นที่ใจกลางเมืองแบบนี้ ยิ่งซ้ำเติมให้ทรุดหนักไปอีก

ดังนั้น หากใครไม่กล้าเสี่ยง ควรแตะเบรกหลีกเลี่ยงบรรดาหุ้นเหล่านี้ไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์อีกครั้ง ก่อนตัดสินใจลงทุน