ปัจจัยเสี่ยง'มะเร็งหลังโพรงจมูก'

ปัจจัยเสี่ยง'มะเร็งหลังโพรงจมูก'

กรมการแพทย์ เตือนมะเร็งหลังโพรงจมูกจะเกิดบริเวณด้านหลังของจมูก หากมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการรักษาโรคในระยะแรกเริ่มจำได้ผลดีกว่าในระยะลุกลาม

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งหลังโพรงจมูกอาจเป็นบริเวณที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยนัก เป็นโรคที่มักพบในประเทศแถบเอเชียบางประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง รวมถึงประเทศไทยด้วย สำหรับอุบัติการณ์มะเร็งหลังโพรงจมูกในประเทศไทยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่า และมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทยโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2014 พบผู้ป่วยเพศชาย 1,087 คน เพศหญิง 462 คน คิดเป็นอุบัติการณ์การเกิดโรค 2.62 และ 1.0 คนต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ

มะเร็งหลังโพรงจมูกคือก้อนเนื้อผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณหลังโพรงจมูกอาจไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ แต่มีข้อมูลว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น พันธุกรรม การติดเชื้อไวรัส Epstein-Barr Virus (EBV) การรับประทานอาหารที่มีสารไนโตรซามีน และการสัมผัสสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม อาทิ ฝุ่นไม้ บุหรี่ เป็นต้น

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า มะเร็งหลังโพรงจมูกอาจไม่แสดงอาหารในระยะแรกๆ โดยอาการอาจจะปรากฏออกมาเมื่อมะเร็งเจริญเติบโตไปรอบๆ หรือมีขนาดใหญ่จนปิดกั้นโพรงจมูกไปมากแล้ว อาการทั่วไปที่พบบ่อย คือ คัดจมูก น้ำมูกไหลข้างเดียวที่ผู้ป่วยไม่ได้เป็นหวัดหรือภูมิแพ้และยังมีอาการอื่นๆ ที่มีความแตกต่างกันในคนไข้แต่ละราย ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากบริเวณไหน เช่น มีเลือดกำเดาไหล หูอื้อ ชาและปวดบวมบริเวณใบหน้า ปวดหัว และมีก้อนนูนอยู่บริเวณต้นคอคอใต้ติ่งหู เป็นต้น

หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ในด้านวินิจฉัยนั้น แพทย์จะใช้กล้องส่องดูภายในจมูกเพื่อดูที่หลังโพรงจมูกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ หากพบเนื้องอกมีลักษณะผิดปกติ เช่น เนื้อนูน ผิวขรุขระมีเลือดซึม แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อนั้นออกมาตรวจและดูว่ามีการกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ หรือไม่

การรักษาหลักมี 3 วิธี ได้แก่ 1. ผ่าตัดในกรณีที่เนื้องอกอยู่ในระยะแรกๆ ยังไม่มีการกระจายตัวมากนัก 2.การฉายแสง 3.และการให้ยาเคมี
การป้องกันมะเร็งหลังโพรงจมูกเบื้องต้น ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่ การสวมเครื่องป้องกันขณะปฏิบัติงานในโรงงานที่มีสารก่อมะเร็ง และสิ่งสำคัญควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอเพื่อการรักษาที่ทันเวลา เนื่องจากการรักษาโรคในระยะแรกเริ่มจำได้ผลดีกว่าในระยะลุกลาม