นั่งเครื่องบิน ‘สวมหน้ากาก’ เสี่ยงติดโควิดน้อย

นั่งเครื่องบิน ‘สวมหน้ากาก’ เสี่ยงติดโควิดน้อย

ผลการศึกษาของกองทัพสหรัฐระบุ ความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 บนเครื่องบินต่ำมาก ถ้าผู้โดยสารสวมหน้ากาก

คณะนักวิจัยของยูเอสทรานส์คอม และสำนักงานโครงการวิจัยกลาโหมก้าวหน้าใช้เซ็นเซอร์และเครื่องติดตามเรืองแสงวัดปริมาณสารติดเชื้อในอากาศปล่อยจากการจำลองลมหายใจผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยเซ็นเซอร์คอยตรวจจับผู้โดยสารที่ติดต่อกับผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ คนที่นั่งติดกันด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง

การทดสอบราว 300 ครั้งติดต่อกัน 8 วัน ทั้งภาคพื้นดินและในเดือน ส.ค.บนเครื่องบินโบอิง 767 และ 777 ของยูไนเต็ดแอร์ไลน์ พบว่า ระบบระบายอากาศอันซับซ้อนบนเครื่องบินสามารถกำจัดอนุภาคปนเปื้อนโควิด-19 ได้ถึง 99.7% ก่อนอนุภาคสัมผัสผู้โดยสารที่นั่งติดกับแบบจำลองผู้ป่วย เมื่อขยายไปถึงคนที่นั่งติดกันอีก 40 ที่ สามารถกำจัดเชื้อได้ 99.99%

หน่วยงานขนส่งกองทัพสหรัฐสรุปว่า ระดับการติดเชื้อบนเครื่องบินทั้งลำในเวลา 12 ชั่วโมงมีเล็กน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม การทดสอบทำในกรณีที่มีผู้โดยสารติดเชื้อคนเดียวเท่านั้น ภายใต้ข้อสมมุติฐานที่ว่า ทุกคนบนเครื่องบินสวมหน้ากากตลอดเวลา ไม่ได้ศึกษาในกรณีที่ผู้ติดเชื้อเพียงคนเดียวนั้นเดินไปเดินมาทั่วห้องโดยสาร

นายโจ โปป ผู้บัญชาการยูเอสทรานส์คอม ผู้ดูแลการทดสอบกล่าวว่า แม้การทดสอบมีข้อจำกัดแต่ผลที่ได้น่าสนใจมาก ลำตัวเครื่องบินโบอิง 777 และ 767 คำนวณแล้วต้องบินราว 54 ชั่วโมงจึงจะหายใจสะสมเชื้อถึงขนาดติดโรคได้

ทั้งนี้ ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด กองทัพระงับการใช้เครื่องบินขนส่งทหารและครอบครัวแทบทั้งหมด