หัวเว่ย’แนะไทยเร่งดึงลงทุน ยกระดับสู่'ฮับดิจิทัลภูมิภาค'

หัวเว่ย’แนะไทยเร่งดึงลงทุน  ยกระดับสู่'ฮับดิจิทัลภูมิภาค'

"หัวเว่ย" พร้อมดัน "ไทย" สู่ฮับดิจิทัลระดับภูมิภาค ชี้รัฐต้องให้น้ำหนัก 3 เรื่อง จูงใจนักลงทุน สร้างบรรยากาศที่ดี พัฒนาทักษะดิจิทัล เผยปัญหาการเมืองไทยไม่กระทบธุรกิจ ยันเดินหน้าลงทุนต่อ เชื่อหากรัฐบาลมุ่งโฟกัส "ดิจิทัล อีโคโนมี"

ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีจีน “หัวเว่ย” ยังคงเดินหน้าลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป็นหนึ่งในตลาดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน ผ่านโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงทักษะด้านดิจิทัลของไทยให้แข็งแกร่ง โดยมั่นใจว่าไทยมีศักยภาพเป็นฮับดิจิทัลของภูมิภาคได้ แม้ในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอน

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะมีสถานการณ์การเมืองที่มีความละเอียดอ่อน อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของหลายฝ่าย แต่ส่วนตัวแล้วยังมั่นใจว่า ธุรกิจของหัวเว่ยจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากประเทศไทย มีศักยภาพทั้งด้านกายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน ในการเป็น ฮับ ดิจิทัล ในภูมิภาคอาเซียน 

แนะ 3 เรื่องที่ีรัฐบาลไทยต้องเร่งทำ

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงกลาโหมเป็นประธานนั้น จำเป็นจะต้องเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5จี เพื่อให้ประเทศไทยขึ้นเป็นผู้นำในด้านนี้ เนื่องด้วยหัวเว่ย ยกให้ไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญในด้านการลงทุน จึงเสนอรัฐบาลไทยที่จะผลักดันเศรษฐกิจใน 3 เรื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และบรรยายกาศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ 

เรื่องแรก นโยบายภาครัฐควรเพิ่มการสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติ เช่น นโยบายการคลัง, นโยบายด้านภาษี เป็นต้น เรื่องที่สอง ไทยจำเป็นต้องมี 5จี อินโนเวทีฟ เซ็นเตอร์ (อีไอซี) ซึ่งที่ผ่านมาหัวเว่ยได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) จัดตั้งศูนย์ดังกล่าวที่สำนักงานเรียบร้อยแล้ว ใช้งบลงทุนมูลค่า 475 ล้านบาท ในการพัฒนาศูนย์ 5จี นำมาซึ่งโซลูชั่น 5จี แบบครบวงจร เป็นพื้นที่ทดลอง มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5จี ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร ซึ่งหัวเว่ยยังมุ่งพัฒนาศักยภาพธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพของไทยปีละกว่า 100 ราย โดยนำเทคโนโลยี 5จี ไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมแนวดิ่งในอีก 3 ปีข้างหน้า

มั่นใจศักยภาพสู่ฮับดิจิทัล

ศูนย์อีไอซีแห่งนี้ ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อผลักดันระบบนิเวศ 5จี อย่างครบวงจร และเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจสตาร์ทอัพด้านดิจิทัลของไทย โดยดึงคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) มาประยุกต์ใช้ เพื่อตอบสนองยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล พร้อมยกระดับทักษะดิจิทัลให้บุคลากรด้านไอซีทีให้พร้อมในระดับสากล

“ก้าวสำคัญ คือ การมีเทคโนโลยี 5จี ที่นำมาประยุกต์ใช้จริงใน เรียล เซ็กเตอร์ ที่ผ่านมาหัวเว่ย เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มและเป็นพันธมิตรหลักของไทยและรัฐบาลไทย เพื่อมุ่งมั่นส่งเสริมระบบนิเวศ 5จี และสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยประสบการณ์และทรัพยากรด้านเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่มี ขณะที่ ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ด้วยการนำประโยชน์เทคโนโลยี คลาวด์ และเอไอ มาใช้ประโยชน์ จึงมั่นใจว่าประเทศจะเข้าสู่ดิจิทัล ฮับได้อย่างแน่นอน”

เรื่องที่สาม คือ การพัฒนาทักษะดิจิทัลด้าน 5จี โดยเฉพาะเรื่อง คลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ควรมีการจัด "5จี อินโนเวทีฟ โปรแกรม" การแข่งขันเพื่อเฟ้นหาบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะด้าน เสริมทักษะด้านดิจิทัลอย่างแท้จริง เพื่อให้มีบุคลากรเพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานในด้านนี้ 

ยาหอมไทยคือตลาดสำคัญ

นายเติ้ง กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับหัวเว่ย และเป็นตลาดเดียวที่หัวเว่ยสามารถนำเสนอสินค้าได้ครบทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.การให้บริการเครือข่าย 2.เอ็นเตอร์ไพรส์ การให้บริการหน่วยงานต่างๆ 3.สินค้าอุปโภคบริโภค การมีสินค้ารุกตลาดคอนซูเมอร์ 4.เทคโนโลยี คลาวด์ และ เอไอ เพื่อให้สามารถส่งมอบอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์ ครอบคลุมเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์รอบด้าน ช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะได้รวดเร็วขึ้น 

ในด้านการดำเนินธุรกิจโดยใช้ ดิจิทัล อีโคโนมี เป็นอีกโจทย์ที่สำคัญ เป็นการนำเอาเทคโนโลยี ไอซีที และดิจิทัลมาผนวกรวมกัน ซึ่งจะส่งผลบวกต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ ประเทศไทยสามารถสร้างรายได้จากดิจิทัล อีโคโนมีคิดเป็น 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ที่สร้าง 50% แต่หากรัฐบาลดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมากขึ้น และมีความต่อเนื่อง ก็คาดว่าในปี 2573 ประเทศไทยจะมีรายได้จากดิจิทัล อีโคโนมี เพิ่มเป็น 30% หลังจากนั้นมีแนวโน้มจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% อย่างต่อเนื่อง

จับตา 5 เทรนด์เทคโนโลยี

สำหรับเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2564 และยังเป็นเทรนด์ต่อเนื่องไปอีก 3 ปี จะประกอบด้วย 5 เทคโนโลยี คือ 5จี, เอไอ, คลาวด์, เอดจ์ คอมพิวติ้ง และแอพพลิเคชัน ตามหลักภูมิศาสตร์ ประเทศไทยตั้งอยู่ตรงกลางภูมิภาคอาเซียน บวกกับมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ทั้ง 3จี 4จี และ 5จี แล้ว ยังต้องมีความร่วมมือการทำงานกับหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคอุตสาหกรรม หากทำได้ประเทศไทยจะเป็น ฮับ ดิจิทัล ได้ไม่ยาก เมื่อนั้นธุรกิจโอทีที (OTT)จะย้ายฐานมาที่ประเทศไทยมากขึ้นจากเดิมอยู่ที่สิงคโปร์และมาเลเซีย

นายเติ้ง กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยเดินหน้ารูปแบบการทำงาน (ยูสเคส) 5จี หลายด้านแล้ว เช่น การทำงานกับโรงพยาบาลศิริราช การทำโครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะ เกษตรดิจิทัลกับมหาวิทยาลัยวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำโดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช. ได้จัดสรรคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5จี ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ หนุนให้ไทยเปิดบริการ 5จี ได้ก่อนประเทศอื่นในภูมิภาค ในขณะที่ หัวเว่ยยังคงยืนยันที่จะลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง