กนอ.เผยเอกชนมั่นใจอีอีซี ตั้ง3นิคมฯใหม่ทุน8หมื่นล้าน

กนอ.เผยเอกชนมั่นใจอีอีซี  ตั้ง3นิคมฯใหม่ทุน8หมื่นล้าน

กนอ. เผย แม้จะมีวิกฤติโควิด-19 แต่ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมยังมั่นใจเสนอลงทุนตั้งนิคมฯใหม่ใน อีอีซี 3 แห่ง คาดมีการลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท จ้างงานเพิ่ม 5 หมื่นคน พร้อมขยายการลงทุนระบบ 5 จี ใน 5 นิคมฯ

นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การลงทุนตั้งฐานการผลิตในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม นักลงทุนต่างชาติยังเป็นกลุ่มที่สำคัญ โดยนักลงทุนจากญี่ปุ่นยังมองไทยในแง่บวก ส่วนนักลงทุนจากจีนยังเข้ามาลงทุนค่อนข้างมาก เพราะผลจากสงครามการค้ากับสหรัฐ ทำให้จีนเข้ามาหาตลาดใหม่ในอาเซียนมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะมีโครงสร้างระบบโลจิสติกส์ที่ดี มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมาก และรัฐบาลให้การส่งเสริมการลงทุนเต็มที่

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีวิกฤติโควิด-19 แต่ผู้ประกอบการนิคมฯ ยังคงมีความมั่นในใน อีอีซี โดยล่าสุดในปี 2563 คณะกรรมการ กนอ. ได้อนุมัติให้มีการตั้งนิคมฯ ในอีอีซี เพิ่ม 3 แห่ง ได้แก่ นิคมฯโรจนะ หนองใหญ่ จ.ชลบุรี มีพื้นที่ประมาณ 2 พันไร่ จะเน้นในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และชิ้นส่วนอุตสาหกรรมรองรับความต้องการของ อีอีซี นิคมฯเอ็กโก้ จ.ระยอง มีพื้นที่ 650 ไร่ และนิคมฯ เอเชียคลีน จ.ชลบุรี มีพื้นที่ประมาณ 2.6 พันไร่ เน้นในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล โดยคาดว่าทั้ง 3 นิคมฯ จะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้าน เกิดการจ้างงานกว่า 5 หมื่นคน

“จากการลงทุนนิคมฯใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ กนอ. มียอดรวมพื้นที่อุตสาหกรรมภายใน อีอีซี ทั้งสิ้นกว่า 3 หมื่นไร่ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 หมื่นไร่ ซึ่งมั่นใจว่าจะหาได้ครบตามเป้าหมายอย่างแน่นนอน ซึ่งในขณะนี้ได้มีผู้ประกอบการนิคมฯ เข้ามาหารือเพื่อตั้งนิคมฯใหม่เพิ่มอีกประมาณ 2-3 ราย”

ในส่วนของสถานการณ์โควิด-19 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในปีนี้ไปจนถึงปีหน้า รวมทั้งยังมีปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น สงครามการค้า ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ และผลจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

160276773029

ทั้งนี้ กนอ. จะต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อสร้างรายได้ และเพิ่มการให้บริการกับลูกค้าในนิคมฯ โดยอาจจะเป็นการร่วมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า หรือพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ในนิคมฯ เพื่อให้บริการและเพิ่มความมั่นคงทางไฟฟ้าให้กับโรงงานในนิคมฯของ กนอ. 

รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าให้กับสินทรัพย์ต่าง ๆ ของ กนอ. เช่น  การนำที่ดินที่มีอย่มาสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุด เช่น ในนิคมฯบางชัน มีพื้นที่กว่า 20 ไร่ ติดถนนใหญ่ ซึ่งไม่เหมาะกับการตั้งโรงงาน มาจัดทำโมเดลธุรกิจที่สร้างมูลค่าสูง การนำที่ดินว่างปล่าในนิคมฯ ทั่วประเทศ มาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น รวมทั้งการปรับปรุงท่าเรืออุตสาหกรรมในนิคมฯมาบตาพุด ให้มีบริการใหม่ ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยแนวทางเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้ให้กับ กนอ. แต่ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการมากขึ้น

นอกจากนี้ กนอ. ได้วางแผนยุทธศาสตร์ ปี 2564 โดยได้ตั้งวิสัยทัศน์ให้เป็นผู้นำในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค ในการพัฒนานิคมฯให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอันใกล้ โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5 จี ที่เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างแท้จริง ที่จะเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมไปในรูปแบบใหม่ โดย กนอ. จะต้องปรับตัวในเรื่องของการให้บริการทุก ๆ ด้านบนดิจิทัลแพลตฟอร์มและจะต้องแข่งในระดับภูมิภาคให้ได้ คือ ต้องให้อยู่ 1 ใน 3 ของอาเซียน โดยมีประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นผู้นำและเวียดนามที่จะตามมา

โดยในส่วนของการปรับตัวรองรับเทคโนโลยี 5จี กนอ. ได้ตั้งเป้าในช่วง 5 ปีแรก จะวางระบบ 5 จี ใน 5 นิคมฯ ของ กนอ. ได้แก่ นิคมฯมาบตาพุด , นิคมฯแหลงฉบัง , นิคมฯบางปู ฯ นิคมฯบากกระบัง และนิคมฯภาคเหนือ จ.ลำพูน โดยเทคโนโลยี 5 จี จะช่วยให้เกิดการการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่การใช้หุ่นยนต์ และเครื่องจักรอัตโนมัติ ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีนี้จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง คาดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าจะเห็นภาพเปลี่ยนไปของอุตสาหกรรมไทยอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับในปี 2564 กนอ. ได้งบการลงทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยการลงทุนหลัก ๆ จะเป็นโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค โดยในปี 2564 จะใช้งบประมาณการก่อสร้างเบื้องต้น 800 ล้านบาท จากมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 2,300 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 1 ปี2564 และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3 ปี นอกจากนี้จะเป็นการลงทุนด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มอีก 200 ล้านบาท และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ในปี 2564 กนอ.มีแผนที่จะจ้างที่ปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ (ช่วงที่ 2) เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือสำหรับสินค้าเหลว พื้นที่ประมาณ 200 ไร่ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง พื้นที่ประมาณ 150 ไร่ เพื่อให้เอกชนสามารถพัฒนาพื้นที่ได้ภายในปี 2567 จะใช้งบประมาณ 40 ล้านบาท