'UNCTAD' ชี้เทรนด์ราคาสินค้าเกษตร-อาหารพุ่ง

'UNCTAD' ชี้เทรนด์ราคาสินค้าเกษตร-อาหารพุ่ง

เกษตร ยึดแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20ปีพัฒนาภาคการเกษตรรับการเปลี่ยนแปลงโลก

ประเทศไทยมีรากฐานเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกหลายรายการ แม้ที่ผ่านมาสินค้ากลุ่มนี้ ดูจะไม่ทำกำไรเท่าที่ควรเพราะแนวโน้มราคาในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปีนี้แม้จะถือเป็นปีที่ย่ำแย่เพราะการระบาดโควิด-19 แต่พบว่าสินค้า“อาหารและการเกษตร”หลายรายการมีแนวโน้มสูงขึ้น

รายงานการค้าและการพัฒนาปี2563 หรือTrade and Development Report 2020 : From Global to Prosperity for All : Avoiding Another Lost Decade จัดทำโดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด)  เผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้สาระส่วนหนึ่งระบุถึงแนวโน้มการราคาสินค้าโภคภัณฑ์(Commodity)ว่าปี2563ราคาจะลดลง 21.5%  ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารมีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น 4.9% แบ่งเป็นกลุ่มพืชอาหารเขตร้อน (Tropical beverages) เพิ่มขึ้น 7.1% กลุ่มอาหาร  เพิ่มขึ้น 4.4% กลุ่มธัญพืชให้น้ำมัน เพิ่มขึ้น 4.8%  ขณะที่กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ให้พลังงานราคาลดลง 36.9% ส่วนกลุ่มโลหะมีค่า(Precious metals) เพิ่มขึ้น 24.1%

ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการภาคการเกษตร หลังจากนี้ จะยึดยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็นหลัก แต่ต้องเร่งการทำงานให้เร็วขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก เริ่มจากตัวเกษตรกรเองที่เป็นจุดอ่อนสำคัญ เนื่องจากเป็นแรงงานสูงวัย แต่มีทักษะสูง ดังนั้นต้องเข้าไปเสริมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ลดต้นทุนการผลิต และสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ กลายเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะจูงใจให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ เข้ามาสู่วงจรภาคการเกษตรมากยิ่งขึ้น

160276732959

ด้านพื้นที่การเกษตรนั้น จะเชื่อมโยงกับโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) และเร่งแจกพื้นที่ถือครองในเขตสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โดยจะดำเนินการให้เข้มข้นมากขึ้น พื้นที่ทั้งหมดจะมีการปรับโครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้แผนที่การเกษตร(Agri- Map)มาต่อยอดแต่จะลดขั้นตอน ลดความยุ่งยากลงเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ทั้งหมดนี้การผลิตที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นที่เกษตรกรต้องได้รับข้อมูลที่เป็นจริงและเข้าถึงง่าย กระทรวงเกษตรฯจึงมีแผนจะรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานเป็น บิ๊กดาต้า ทั้งด้านพื้นที่ ปัจจัยการผลิต น้ำและการตลาด

โดยในด้านน้ำนั้น ในช่วง 2 ปีนี้จะผลักดันให้ผันน้ำยวมเข้าสู่เขื่อนภูมิพล ให้เริ่มต้นให้ได้ แม้ว่าจะใช้งบประมาณสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท แต่ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน และจะส่งผลให้ไทยมีความมั่นคงด้านน้ำมากขึ้น การดำเนินการดังกล่าวต้องทำไปพร้อมกับการขยายพื้นที่ชลประทาน จาก 33 ล้านไร่ ให้ได้ 60 ล้านไร่ จากพื้นที่ภาคการเกษตร 164 ล้านไร่ ตามแผนในปี 2580 นี้จะสามารถเพิ่มได้ 30 ล้านไร่ ที่เหลือต้องผลักดันหลังจากนั้น โดยเฉลี่ยแล้วการขยายพื้นที่ชลประทานจะทำได้ประมาณปีละ 6-7 แสนไร่

อย่างไรก็ตาม แผนด้านการตลาด นั้น นอกจากกระทรวงเกษตรฯจะเชื่อมโยงกับกระทรวงพาณิชย์ตามแผนตลาดนำการเกษตรแล้ว ในเร็วๆนี้ จะหารือกับ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศทั่วโลกเพื่อให้เร่งประชาสัมพันธ์ และหาตลาดใหม่ ในขณะที่ต้องรักษาตลาดเดิมเอาด้วย โดยให้ชูสินค้าเกษตรที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ เป็นตัวนำตลาด ซึ่งตลาดในแต่ละพื้นที่จะนิยมสินค้าต่างกันออกไป ดังนั้นอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ของประเทศนั้นๆ ต้องศึกษา วิเคราะห์ ความต้องแต่ละตลาดเพื่อแนะนำการผลิตให้สอดคล้องกัน เช่น จีน มีความต้องการ ทุเรียน น้ำมะพร้าวน้ำหอม ส้มโอ สหภาพยุโรปหรืออียู ต้องการสินค้าอินทรีย์ เป็นต้น

ช่วงที่การระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางได้ แต่การส่งออกสินค้าจากไทยไปทั่วโลกยังมีต่อเนื่อง ที่สำคัญสินค้าจากไทยเมื่อออกจากโรงงานนั้นสามารถรับรองการปลอดเชื้อโควิด ด้วย สิ่งเหล่านี้ถือเป็จุดแข็งและสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดได้

ตอนนี้ภาคการเกษตรต้องดำเนินควบคู่ไปกับการตลาด สินค้าที่ผลิตได้ต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาดตามมา  เมื่อแนวโน้มตลาดสินค้าเกษตรโลกปรับตัวดีขึ้นถือเป็นจังหวะที่ดีที่จะต้องพัฒนาภาคการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสจากภาคการตลาดให้การเกษตรไทยเติบโตได้ดีและยั่งยืนด้วย