'หญ้าทะเล' ตาย ที่ 'ลิบง' เมื่อการขุดลอกแม่น้ำกันตังสะเทือนพะยูนในทะเล

'หญ้าทะเล' ตาย ที่ 'ลิบง' เมื่อการขุดลอกแม่น้ำกันตังสะเทือนพะยูนในทะเล

"หญ้าทะเล" ในเขตอนุรักษ์ที่ "ลิบง" กำลังวิกฤติจากผลกระทบขุดลอกแม่น้ำ เร่งประสานงานหาทางแก้ปัญหา ก่อนเขตอนุรักษ์พะยูนจะได้รับผลกระทบหนักกว่านี้ นักวิชาการห่วงสารปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศใต้ทะเล

จากกรณีที่มีรายงานว่า เกิดปรากฏการณ์หญ้าทะเลตาย ตั้งแต่ หน้าหาดทุ่งจีน ไปจนถึงหาดตูบ อ.กันตัง จ.ตรัง กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง โดย ชาวบ้านเกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง และเครือข่ายประมงพื้นบ้าน สำรวจแหล่งหญ้าทะเลบริเวณดังกล่าว พบใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เริ่มเน่าตายเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากน้ำทะเลมีลักษณะเป็นตะกอนขุ่น

ชาวบ้านระบุว่า สาเหตุเกิดจากการนำตะกอนที่ขุดลอกแม่น้ำตรัง หรือคลองกันตัง มาทิ้งในทะเลและน้ำทะเลพัดพาตะกอนมาทับถมจนหญ้าทะเลตาย

โดยความคืบหน้าเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ในวงประชุมหารือแก้ปัญหาการตายของหญ้าทะเล บริเวณเกาะลิบง ได้มีการนำเสนอปัญหา ซึ่ง ทิพย์อุสา จันทกุล หนึ่งในเครือข่ายอนุรักษ์พะยูน และชาวเกาะลิบง ให้รายละเอียดว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง ได้นำเสนอปัญหาต่อหน่วยงานภาครัฐในทุกเวทีการประชุมและติดตามการเปลี่ยนแปลงของหญ้าทะเลมาโดยตลอด

มีทั้งการลงพื้นที่สำรวจระบบนิเวศบันทึกภาพการเปลี่ยนแปลงและกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐ เข้ามาแก้ปัญหา ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานบริษัทผู้รับเหมา มาร่วมปรึกษาหารือ โดยมีข้อเสนอให้ยกเลิกการทิ้งจะกอนลงในทะเล และย้ายพื้นที่ทิ้งตะกอนจากจุดเดิม ควบคู่กับการศึกษาวิจัยฯ โดย มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง

160274371598

160274380781

แต่เนื่องจากสถานการณ์ ปัญหาการตายของหญ้าทะเล ส่งผลกระทบกับพี่น้องบนเกาะลิบง ทั้งในด้านอาชีพ วิถีชีวิตการหาอยู่หากินที่เปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ฟิ้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมนการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการประชุม หาแนวทางแก้ปัญหาในวันที่12 ตุลาคม 2563 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอันดามัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วน และนำไปสู่ข้อสรุปร่วมกัน คือ

  • การขุดลอกแม่น้ำตรัง เป็นภารกิจของสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 ที่ต้องมีการขุดลอกเส้นทางสัญจรของเรือบรรทุกสินค้า มีวัสดุที่ขุดพบได้แก่ หิน ทราย และโคลน
  • หิน และทราย จะไม่นำไปทิ้งในทะเล โดยกรมเจ้าท่าจะประสานงานกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงเพื่อหาจุดทิ้งตะกอนที่เหมาะสมบนฝั่ง ประสานกับชุมชนมดตะนอย เกาะลิบง บ้านทรายขาว เพื่อนำทรายกับหินไปช่วยเติมในพื้นที่ที่มีการกัดเซาะชายฝั่งโดยจะทำการศึกษาผลกระทบอย่างถี่ถ้วน
  • สำหรับโคลน กรมเจ้าท่าฯกับบริษัทรับเหมาจะไปศึกษาจุดทิ้งตามข้อเสนอของที่ประชุมคือห่างจากจุดเดิมออกไปในทะเลระยะทาง12-13 กม.จากจุดทิ้งเดิมและห่างจากเกาะลิบงประมาณ 10 กม.ซึ่งต้องมีการศึกษาและสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมอีกครั้ง

160274373737

หลังจากนั้นจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการพะยูนและหญ้าทะเล และลงพื้นที่จัดเวทีประชุมชี้แจงรับฟังความเห็นของชุมชนบนเกาะลิบง วางแผนอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ควบคู่กับการศึกษาปริมาณตะกอนและคุณภาพน้ำบริเวณดังกล่าว

สำหรับการขุดลอกร่องน้ำในปีงบประมาณ 2564 เสนอให้กรมเจ้าท่าดำเนินการขุดลอกในแหล่งที่เป็นหิน เป็นหลัก และให้นำขึ้นมาทิ้งบนฝั่งทั้งหมด

ด้าน ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าวถึงลักษณะทางกายภาพของบริเวณดังกล่าวว่า หาดทุ่งจีน หาดตูบ และรอบๆ เกาะลิบง มีพื้นที่ที่มีหญ้าทะเล 12,000 ไร่ จากที่มีทั้งหมดในจังหวัดตรัง 20,000 ไร่ การเกิดตะกอนทับถมบริเวณดังกล่าวจนทำให้หญ้าทะเลตายเป็นวงกว้างนั้น จะทำให้พะยูนสูญเสียแหล่งอาหาร

ขณะที่ทะเลบริเวณนี้เป็นถิ่นอาศัยที่สำคัญของพะยูนฝูงสุดท้ายของประเทศ และพะยูนแต่ละตัวต้องการกินหญ้าทะเลวันละ 35 กิโลกรัม จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง อีกทั้ง ผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศชายฝั่งที่ตามมาส่งผลให้ชาวบ้านที่หากินตามชายฝั่งเดือดร้อนเนื่องจากปริมาณสัตว์น้ำลดลง

160274376178

โครงการขุดลอกแม่น้ำตรังเป็นของกรมเจ้าท่า เริ่มขุดตั้งแต่ปี 2559 มีการขุดลอกปากแม่น้ำระยะทาง 30 กม. โดยใช้งบผูกพัน ขณะนี้หยุดชั่วคราวเพราะงบปี 63 หมด และหากงบปี 64 มาก็จะขุดต่อ

ตะกอนที่ขุดลอกจากแม่น้ำมีสารพิษและโลหะหนักทั้งปรอท ตะกั่ว และสารหนู แนวคิดสำคัญของการแก้ปัญหาก็คือเอาทิ้งทะเลเพื่อให้น้ำทะเลเจือจาง โดยไม่ตระหนักว่าโลหะหนักเหล่านี้จะเข้าสู่ห่วงโซ๋อาหารและผู้บริโภคจะได้รับโลหะหนักเหล่านี้ และขณะนี้ก็มีการวางแผนทางเลือกว่าการขุดต่อจะนำตะกอนไปทิ้งบนบกหรือทะเล

นอกจากหญ้าทะเลและระบบนิเวศน์ชายฝั่งได้รับความเสียหายอย่างหนักแล้ว ผลกระทบอาจรวมไปถึงปะการังที่งดงาม การระงับการขุดลอกไว้ก่อนจนกว่าการตรวจสอบความจริงจะปรากฏน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้

โดยหลังจากนี้ ทางภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งในเวทีประชาคม ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการประสานงานหาช่วงเวลาที่เหมาะสม หลังจากนี้

160274377416

160274378866