7 ปีไม่สาย...เปิดแผนดัน ‘เลย’ เมืองท่องเที่ยวโลก

7 ปีไม่สาย...เปิดแผนดัน ‘เลย’ เมืองท่องเที่ยวโลก

ลุยต่อกับแผนการผลักดันให้ ‘จังหวัดเลย’ ขึ้นแท่นเมืองท่องเที่ยวโลก ด้วยแผนระยะยาว 7 ปี จาก อพท.

หลังจากที่เชียงคานได้ขึ้นแท่นเป็น แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพยั่งยืนระดับโลก อพท.จึงเดินหน้าต่อกับการดันให้ จังหวัดเลย ก้าวสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกตามไปติดๆ โดยวางโครงข่าย 15 ชุมชนจาก 9 อำเภอ รองรับการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว ชูความหลากหลายทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรมผ่านกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ สร้างธีมชวนสัมผัส เพิ่มการใช้จ่ายและจำนวนวันพักโกยรายได้ท่องเที่ยวเข้าจังหวัดรวม 3.5 หมื่นล้านบาท บนพื้นฐานว่าชุมชนต้องได้รับผลประโยชน์เต็มๆ

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทนผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. ได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย ปี 2563-2570 ต่อ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในแคมเปญ Explore the Unseen Thailand หรือ “เรารู้จักกันดีพอหรือยัง” เพื่อส่งเสริมให้ชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย (เอ็กซ์แพท) ที่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสานเหนือได้เดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกันระหว่างจังหวัด

แผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว อพท. จะนำเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand ไปพัฒนาให้กับชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยว เป้าหมายดำเนินการใน 15 ชุมชน ครอบคลุม 9 อำเภอ ในจังหวัดเลย เพื่อให้เกิดการกระจายออกไปชุมชนต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก โดยชุมชนจะมีรายได้เพิ่มจากการให้บริการทางการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพื้นที่เชียงคาน ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวต้นแบบของ อพท. ที่ได้เลือกบรรจุใน 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก หรือ Sustainable Destinations TOP 100 จากหน่วยงานระดับโลก Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับคณะผู้จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก ITB (Internation Tourism Borse) กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

“เรามีเชียงคานเป็นต้นแบบและจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่เชื่อมโยงกันโดยยึดอัตลักษณ์ให้จังหวัดเลยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม”

160273539227

  • โกยรายได้เข้าจังหวัด 3.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับ 9 อำเภอ ที่จะพัฒนานั้นได้แก่ อำเภอเมืองเลย เชียงคาน ท่าลี่ ด่านซ้าย ภูเรือ นาแห้ว ภูกระดึง ภูหลวง และหนองหิน แต่ละอำเภอจะกำหนดธีมการท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ (2563-2570) ที่มีเป้าหมายการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสะสมรวมกว่า 35,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 จากปัจจุบันร้อยละ 90 ของการท่องเที่ยวในจังหวัดเลยเป็นแบบไทยเที่ยวไทย แต่จากธีมใหม่ตามยุทธศาสตร์ที่ อพท. กำหนดพัฒนาการท่องเที่ยวใน 9 อำเภอ ให้เกิดความแตกต่าง เป้าหมายดำเนินงานคือการเพิ่มจำนวนวันพักค้างคืนของนักท่องเที่ยว เช่นจาก 2 วัน 1 คืน ให้เป็น 5 วัน 4 คืน เบื้องต้นนำร่องเริ่มทดสอบจากเส้นทางตามรอยแสวงธรรมหลวงปู่มั่นที่เชื่อมโยงไปยังจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ อพท. เข้าไปพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสายธรรมะ โดยบรรจุแผนการพัฒนาไว้ในปีงบประมาณ 2564

ปัจจุบันจังหวัดเลยได้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ สกายวอล์ค บนภูเขาปากน้ำเหือง บริเวณพระใหญ่ภูคกงิ้ว ติดแม่น้ำโขง บ้านท่าดีหมี ตำบลปากตม โดย อพท. มีหน้าที่บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเข้าไปพัฒนาแผนการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อกระจายจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก โดยใช้กลไกการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เป็นจุดเชื่อมโยงและจุดพัก เพื่อชะลอจำนวนนักท่องเที่ยวก่อนเข้าสัมผัสชมธรรมชาติบน “สกายวอล์ค”

  • สร้างโครงข่ายชุมชนรองรับนักท่องเที่ยว

พื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมและวิถีที่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวมี 9 ชุมชนรอบ “สกายวอล์ค” สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เช่น ชุมชนบ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นชุมชนของชาวไทพวนที่อพยพมาจากเมืองพวนทางตอนเหนือของประเทศลาว ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมการละเล่น และชุมชนบ้านคกงิ้ว ซึ่งมีโครงการพระราชดำริ

อพท.ได้เข้าไปส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนแหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา น้อมนำมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตทั้งด้านการเพาะปลูก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประจำชุมชน จัดตั้งเป็นศูนย์ชุมชนคกงิ้ว และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่รองรับการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีชุมชนอื่นๆ ที่ยังมีอัตลักษณ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าใช้บริการด้านการท่องเที่ยว ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นทั้งวิถีริมโขง วิถีทางวัฒนธรรม วิถีเกษตร เป็นต้น

160273538741

160273538919

  • ผลักดันกิจกรรมชุมชนสร้างรายได้เพิ่ม

แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอื่นๆ ได้แก่ ชุมชนบ้านนาป่าหนาดเป็นคนเชื้อสายไทดำ หรือ ชาวไทดำกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากจังหวัดเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนามเมื่อสมัยเกิดสงครามฝรั่งเศสเวียดนาม ที่เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่จะเข้ามาเพิ่มเติมสีสันให้แก่อำเภอเชียงคาน เพราะมีการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะการจัดทำโคมไฟที่ดัดแปลงมาจากตุ้มหนู (กรง) และ ตุ้มนก (กรง) ใช้เป็นเครื่องลางแสดงถึงความโชคดีของชุมชนที่แขวนไว้หน้าบ้านทุกหลัง ความเข้มแข็งของวัฒนธรรมของชุมชนแห่งนี้จึงพัฒนาให้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยว “ถนนคนเดิน” ในยามค่ำคืน มีการนำอาหารประจำถิ่นมาจำหน่าย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อชิมสัมผัสรสชาติ ซึ่งหลังจากเปิดทดลองให้บริการที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ทำให้ชุมชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การร่ายรำประจำถิ่น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และ ซึมซับทางวัฒนธรรมต่อไป