"คณะราษฎร 63” ม็อบมือใหม่ ท้าทาย “นักจัดม็อบมืออาชีพ”

"คณะราษฎร 63” ม็อบมือใหม่  ท้าทาย “นักจัดม็อบมืออาชีพ”

แม้ "คณะราษฎร63" จะยุติการชุมนุม หลังเข้ายึดพื้นที่รอบทำเนียบได้ ประมาณ11 ชั่วโมง แต่แนวทางที่พวกเขาเดิน ต่อเนื่อง14-15ตุลาคม สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่าง ที่ไม่ควรมองข้าม

           ตลอดวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ภาพการเคลื่อนไหวและการชุมนุมของ “กลุ่มเยาวชน” ที่เรียกตนเองว่า “คณะราษฎร 63” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถูกจับตาแบบเกาะติด เนื่องจากมีปัจจัย “ลองของ” แกนนำรุ่นเยาว์

           ทั้งการตั้งกลุ่มชุมนุมของ “นักจัดม็อบมืออาชีพ” ทั้งที่เป็นแกนนำและเครือข่ายของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ที่ประกาศวัตถุประสงค์คือ “แสดงออกถึงความจงรักภักดีสถาบัน” ตั้งวงล้อม ”ม็อบคณะราษฎร63”

           อาทิ กลุ่มของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตแกนนำกลุ่มกปปส. ที่ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ - “สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ อดีตพระพุทธะอิสระ” ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ที่เป็นกลุ่มใหญ่ร่วมกับ “นพ.เหรียญทอง แน่นหนา” ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และมีกลุ่มเคลื่อนพลเร็ว นำโดย “คมสัน ทองศิริ อดีตเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ที่ผันตัวเป็นประธานเครือข่ายไฟฟ้าประปา และยาเพื่อชาติประชาชน

           แม้ “กลุ่มคณะราษฎร63” ที่มี 3 แกนนำรุ่นเยาวชน ประกอบด้วย “เพนวิน- พริษฐ์ ชีวารักษ์” “รุ้ง- ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” และ “อานนท์ นำภา”จะปรับกระบวนรับมือ เริ่มจากเวลานัดชุมนุม จาก 14.00 น. เป็น 08.00 น. เพื่อเข้าแย่งชิงพื้นที่ชุมนุม แต่ด้วยภาวะที่ถูกล้อมบีบ ทำให้บรรยากาศการรวมตัว มีความกดดัน และต้องระวังถึงการปะทะ ระหว่างคนที่มีแนวคิดแตกต่างกัน

           ส่วนเป้าหมายการเคลื่อนขบวน ไป "ทำเนียบรัฐบาล” ต้องปรับเส้นทาง จากเดิมจะใช้ ถนนราชดำเนิน เป็นหลักสู่เป้าหมาย ต้องปรับใช้เส้นทางลำดับรอง คือ ถนนนครสวรรค์ - แยกนางเลิ้ง - ถนนพิษณุโลก - ทำเนียบรัฐบาล

           ทำให้เป็นงานลำบากของแกนนำ ที่ต้องควบคุมมวลชนให้ดี ไม่ให้มีการปะทะ แม้ตลอดทั้งวันที่มีการชุมนุม จะพบการปะทะกันของคนสีเสื้อเหลืองและกลุ่มคณะราษฎร 63 แบบประปราย แต่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทำให้สถานการณ์ปะทะนั้น ไม่ได้ลามไปถึงเหตุไม่คาดฝัน

           อย่างไรก็ดี "ยุทธศาสตร์ของคณะราษฎร 63” ถือว่าตั้งรับได้ดีพอสมควร เพราะสามารถเคลื่อนขบวนไปสู่เป้าหมายได้ เพื่อนำข้อเรียกร้อง 3 ประเด็น คือ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลาออก - รัฐสภาเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเร็ว และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

           แต่ทั้ง 3 ข้อเรียกร้องนั้น หากมองในมุมของความเป็นจริง และผลในทางปฏิบัติ ยุทธศาสตร์เพียงแค่นำมวลชนมาปักหลักพักค้างหรือ นำมวลชนจำนวนมากเคลื่อนไหวกดดัน "คงไม่พอ” เพราะทั้งหมดนั้น ล้วนเปิดทางให้มีข้ออ้าง ผสมกับข้อเท็จจจริงในทางปฏิบัติ ที่ถูกหักล้างอย่างสมเหตุสมผล

           ทั้งข้อเรียกร้องให้ รัฐบาลปัจจุบัน ลาออก คำถามต่อมาคือ รัฐสภา จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ตามความต้องการของประชาชนได้อย่างไร ในเมื่อเสียงข้างมากของรัฐสภา ที่ใช้เป็นกลไกแก้รัฐธรรมนูญ ยังเป็นกลุ่มที่คณะราษฎร 63 ไม่ไว้วางใจ ว่า "อยู่ข้างประชาชนอย่างแท้จริง"

           การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ ภายในเวลาที่เหลือ อีกครึ่งเดือน ที่สภาฯ สมัยปกติจะเปิดประชุม จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปไวตามใจนึกหรือไม่ ในเมื่อรัฐสภา มีมติให้ชะลอการพิจารณา “รับหลักการ” และตั้งกลไก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ คั่นเอาไว้ ซึ่งกมธ.ชุดนี้ มีเวลาทำงานถึง 23 ตุลาคม ซึ่งต่อให้ เปิดวิสามัญได้จริง กลไกของรัฐสภาต้องรอ กมธ.ฯ ชุดนี้อยู่ดี

           ขณะเดียวกัน มีข้อถกเถียงด้วยว่า การพิจารณาของรัฐสภา วาระรับหลักการ อาจจะถูกดึงเวลาออกไป หลังจากเปิดประชุม เดือนพฤศจิกายน เพื่อรอการตรวจสอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ที่ “ไอลอว์” เป็นตัวแทนนำยื่น ซึ่งขณะนี้เหลืออีกขั้นตอนเดียว คือ ให้ผู้ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนนั้นตรวจสอบ และคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 15 วันนับจากนี้

           ส่วนการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หากต้องการให้เกิดขึ้น ย่อมปฏิเสธการใช้ช่องทางของการแก้ไขกฎหมาย ในฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ ตามที่เคยมี อดีตส.ส.พรรคก้าวไกล เคยผลักดันเรื่องนี้

           นอกจากนั้นแล้ว หากม็อบยังยืนยันจะส่งผ่านข้อเรียกร้อง และกดดันให้บรรลุผลสำเร็จ ด้วยการปักหลักพักค้าง และบางจังหวะอาจมีความรุนแรง ย่อมเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ต่อ เพื่อบัญชาสถานการณ์ไม่ให้ลุกลาม บานปลาย

           ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของม็อบคณะราษฎร 63 แม้จะบริหารจัดการสร้างกระแสกดดันและทำให้ทุกฝ่ายหันมาจับตา แต่สิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง หากไม่วางกลยุทธ์ให้ดี เชื่อว่า 3 ข้อเรียกร้องนั้น คงเป็นแค่ “การเรียกร้อง” ที่ยากจะเป็นจริง

           ทว่าในมุมยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว ปฏิบัติการที่ม็อบเยาวชนปรับแผนสับขาหลอก ทิ้งพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ และม็อบจัดตั้งมืออาชีพมาได้ ถือได้ว่าเป็นชัยชนะที่ทะลุขึ้นมาได้อีกขั้น.