'เอกชน' ร่วมขับเคลื่อนอีวี ลุยวางระบบสถานีชาร์จ

'เอกชน' ร่วมขับเคลื่อนอีวี ลุยวางระบบสถานีชาร์จ

นโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นหนึ่งในแผนนโยบายที่กระทรวงพลังงาน ให้ความสำคัญและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แต่การพัฒนาตัวรถอย่างเดียวไม่พอต้องพัฒนาด้านระบบไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานรถ EV

ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย(EVAT) ได้ร่วมมือกับ 11 หน่วยงาน พัฒนา โมเดลการใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามเครือข่ายหรือ Charging Consortium” ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเเห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด บริษัท จีแอลทีกรีน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โชเซ่น เอ็นเนอร์จี้ จำกัด เเละ บริษัท เดอะ ฟิฟท์ อีลีเม้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

160267474342

กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยายนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เปิดเผยในงานสัมมนาปิดโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า(Charging Station) ว่า สมาคมฯ เตรียมทดสอบระบบ “โมเดลการใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามเครือข่าย (Charging Consortium)” ในต้นปี 2564 นำร่องพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ โดยระบบดังกล่าวจะรองรับบัตร RFID ซึ่งเป็นบัตรสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่สามารถนำไปใช้ชำระค่าชาร์จไฟฟ้าได้กับทุกค่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า และยังเป็นระบบจัดการฐานข้อมูลผู้ใช้บริการชาร์จไฟฟ้าผ่านระบบแอพพลิเคชั่นหลัก เพื่อแก้ปัญหากรณีแต่ละค่ายฯ ต่างมีระบบแอพพิลเคชั่นการชำระเงินและการเก็บข้อมูลลูกค้าที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ใช้รถ EV อาจต้องมีการโหลดแอพพลิเคชั่น หรือ ถือบัตรจำนวนมาก ไม่สะดวกกับการใช้บริการหลากหลายค่าย

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯยังอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการใช้บัตร RFID ว่าจะเป็นรูปแบบใดระหว่างรูปแบบบัตรเดบิต หรือ เครดิต หรือ แอพพลิเคชั่นผ่านมือถือ และอาจสรุปยอดการใช้บัตรส่งไปเก็บเงินที่บ้าน เป็นต้น โดยหากระบบโมเดลดังกล่าวประสบผลสำเร็จ ทางสมาคมฯจะขยายผลไปยังสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่มีทั่วประเทศเพื่อให้เป็นระบบมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถานีชาร์จไฟฟ้าอยู่ 570 แห่ง มีหัวจ่ายไฟฟ้า 1,800 หัวจ่าย ส่วนยอดรวมรถ EV ที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกไว้จนถึงเดือน มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 3,076 คัน สูงขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2562 ที่มีอยู่ 1,572 คัน และคาดว่าสิ้นปี 2563 จะมีรถ EV ในไทยรวมถึง 5,000 คัน เนื่องจากปัจจุบันมี รถEV นำเข้าหลากหลายรูปแบบและราคาแตกต่างกัน ทั้งราคาที่จับต้องได้ต่ำสุด 4 แสนบาทจนถึง 7 ล้านบาทต่อคัน ขณะที่สถานีชาร์จไฟฟ้าเริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าที่ติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าที่มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้ในอนาคต

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้หารือกับภาครัฐให้ขยายเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV ในไทยใหม่ จากเดิมรัฐกำหนดให้มีสัดส่วนการผลิตรถ EV ให้ได้ 30% ภายในปี 2573 เนื่องจากกระแสความต้องการใช้รถ EV มีเพิ่มขึ้น

160267479067

“ราคารถEV น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยกระตุ้นตลาด หากต่ำว่า 1ล้านบาทต่อคัน ก็จะเอื้อต่อผู้ใช้รถ ฉะนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการทางภาษีมาช่วยสนับสนุนผู้ใช้รถให้เป็นเจ้าของรถEV มากขึ้น”

160268757694

เลิศชาย แก้ววิเชียร ผู้ช่วยผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า จากข้อมูลพยากรณ์ตามโครงการลงทุนต่างๆที่มีการติดตั้งหม้อแปลง รองรับการใช้งานประมาณ 21,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะอยู่ที่ 15,000 เมกะวัตต์ และหากรวมกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 4 แสนคัน หรือมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นรวมอยู่ที่ประมาณ 17,000 เมกะวัตต์ 

ดังนั้น มั่นใจว่าโครงสร้างพื้นฐานพร้อมรองรับการใช้งานของรถEV แต่ยังมีข้อกังวลว่า หากเป็นการใช้งานของรถEV แบบกระจุกตัวพร้อมกันในแต่ละพื้นที่ อาจส่งผลให้หม้อแปลงระเบิดได้ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมรองรับต่อความต้องการใช้รถEV ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย อีกทั้งการพัฒนา ซอฟต์แวร์ของเอกชนกับการไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้งานของรถEV นั้นควรจะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลในการบริหารจัดการร่วมกันด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ทั้งนี้ ราคารถEV ถ้าต่ำกว่า 1 ล้านบาท จะเป็นสัญญาณว่า กฟภ.จะต้องเร่งรัดแผนการลงทุนต่างๆเพื่อรองรับเร็วขึ้น”

มนัส อรุณวัฒนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า กฟน.มองการเข้ามาของรถEV ไม่ได้เป็นแค่รถ แต่เป็นอุปกรณ์เชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้า เพราะรถEV จะเป็นเหมือนแบตเตอรี่ที่เก็บประจุไฟฟ้า และพร้อมจ่ายไฟฟ้าย้อนกลับเข้าสู่ระบบสายส่งได้ ซึ่งในอนาคตจะแบตเตอรี่จากรถEV จะเป็นอีกกลไกผลิตไฟฟ้าที่เข้ามาลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ได้

วรพจน์ รื่นเริงวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชเซ่น เอ็นเนอร์จี้ จำกัด กล่าวว่า ทิศทางการใช้รถยนต์ในอนาคต จะเห็นEV ที่เข้ามาควบคู่กับเทคโนโลยีสมาร์ทเติบโตขึ้นและจะผลักดันให้สถานีอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นการพัฒนาฮาร์ดแวร์เพื่อรองรับการใช้งานของเทคโนโลยีต่างๆจะมีความสำคัญมากขึ้น

โดยบริษัท ซึ่งเป็นผู้ให้บริการติดตั้งระบบ EVEN (อีวีเอน) และติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า EVBOX (อีวีบอกซ์) ได้เตรียมพร้อมขยายการลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งระบบ EVEN คือ ระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่พัฒนาจากฝีมือคนไทย ร่วมกับเนเธอแลนด์ ภายใต้เทคโนโลยี OCPP ซึ่งสามารถใช้กับอุปกรณ์ชาร์จส่วนใหญ่ในโลก และยังสามารถสื่อสารกับรถพลังงานไฟฟ้าได้ จึงทำให้ควบคุมกำลังการจ่ายไฟได้อย่างเหมาะสมกับรถแต่ละคัน ช่วยรักษาอายุแบตเตอรี่ของรถ EV ได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่เสื่อมก่อนกำหนดเวลา  ส่วน EVBOX คือ สินค้าที่ติดตั้งควบคู่กับระบบ อีวีเอน เป็นตัวควบคุมรถที่เข้ามาจอดชาร์จไฟ