เสียงแตก "อนุกมธ.ด้านกฎหมาย" ยอมรับ ความเห็นไม่เอกฉันท์ ชง "รัฐสภา" เคาะ

เสียงแตก "อนุกมธ.ด้านกฎหมาย" ยอมรับ ความเห็นไม่เอกฉันท์ ชง "รัฐสภา" เคาะ

อนุกมธ.ด้านกฎหมาย ในกมธ.พิจารณาแก้รธน.ก่อนรับหลักการ ยอมรับความเห็นไม่เอกฉันท์ ชง กมธ.ชุดใหญ่พิจารณาบ่ายนี้ ก่อนเสนอให้รัฐสภาเคาะ

               นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประธานคณะอนุกรรมการธิการ (กมธ.) พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ในกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ เปิดเผยว่า อนุกมธ.​ฯ เตรียมนำรายงานผลการพิจารณาเสนอให้ กมธ. วันนี้ (14 ตุลาคม) โดยมีเนื้อหาที่สรุปแล้ว คือ อนุกมธ.ฯ เสียงข้างมาก เห็นว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22 /2555  รวมถึงการทำประชามตินั้น กระทำหลังจากที่รัฐสภาพิจารณาแก้ไขแล้วเสร็จ ส่วนการแก้ไขเนื้อหาเป็นรายมาตราที่มีผลต่อการแก้ไขหมวด1และหมวด2 นั้น อนุกมธ.ฯ ได้ทำรายงานเสนอด้วยว่าหาก ส.ส.ร. แก้ไขเปลี่ยนแปลงจะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นตกไป และ ส.ส.ร. ต้องสิ้นสภาพด้วย

           

              นายวิเชียร กล่าวยอมรับด้วยว่าในอนุกมธ.​ฯ​ยังมีความเห็นเสียงข้างน้อย มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตั้ง ส.ส.ร. มาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีบทบัญญัติรับรอง และการออกเสียงประชามติ ถ้าวินิฉัยตามศาลรัฐธรรมนูญก็ควรทำประชามติก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณารับหลักการด้วย โดยการให้รัฐบาลขอเสียงประชามติ ด้วยการจัดรับฟังความเห็นผ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 ซึ่งอนุกมธ. ก็จะเสนอให้กมธ.ชุดใหญ่รับทราบด้วยเช่นกัน

              "การตัดสินใจลงมติ จะขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา อย่างไรก็ตามการทำประชามติจะต้องถามคำถามเดียวว่าร่างนี้ประชาชนเห็นเป็นประะการใด ถ้าไม่เห็นด้วยก็ตกไป อย่างไรก็ตามยืนยันว่า การทำประชามติจะไม่ทันกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น เพาะกฎหมายประชมติยังไม่มี" นายวิเชียร กล่าว


        ด้านนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ในฐานะอนุกมธ.ฯ กล่าวปฏิเสธกระแสข่าวที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ออกมาระบุ ส.ว.เปลี่ยนท่าทีสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2 ญัตติ ที่ให้ตั้ง ส.ส.ร.มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังได้รับสัญญาณจากรัฐบาล โดยยืนยันว่า ส.ว. ยังไม่ได้รับสัญญาณใด ๆ และมีอิสระ และมีศักดิ์ศรีในการทำหน้าที่ให้เป็นกลาง หากใครส่งสัญญาณใด ๆ มา ผู้นั้นก็จะเสียเอง พร้อมยืนยันไม่ได้รับสัญญาณใด ๆ จากใครทั้งสิ้น พร้อมเปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับ ส.ว.ส่วนใหญ่ จะชั่งน้ำหนักความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระหว่างการแก้ กับไม่แก้ แต่จะต้องพิจารณาวิธีการอย่างรอบคอบ.