“เอกชน”ห่วงเกณฑ์ใหม่ “โรงไฟฟ้าชุมชน”เกิดยาก

“เอกชน”ห่วงเกณฑ์ใหม่  “โรงไฟฟ้าชุมชน”เกิดยาก

การประชุมกรอบความคิดของ “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” หรือ โฟกัสกรุ๊ป ที่จัดขึ้นโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2563 ได้มีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การประชุมกรอบความคิดของ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” หรือ โฟกัสกรุ๊ป ที่จัดขึ้นโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2563 ได้มีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) การไฟฟ้าสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวมวล และก๊าซชีวภาพ สภาเกษตรกรฯ วิสาหกิจชุมชน และนักลงทุน เป็นต้น ได้รับฟังการนำเสนอแนะประเด็นหารือ(ร่าง) กรอบหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการฯ ที่ปรับปรุงใหม่ พบว่า มีหลายประเด็นที่ภาครัฐยังไม่ตกผลึกในเงื่อนไขที่จะออกมา ขณะที่ภาคเอกชนขอให้รัฐทบทวนในหลายเรื่อง เพื่อให้โครงการฯเกิดขึ้นได้จริง และทันตามแผนเปิดยื่นเสนอโครงการในสิ้นปีนี้

โดยเฉพาะการกำหนดวิธีการคัดเลือกผู้ดำเนินโครงการ ด้วยวิธีแข่งขันด้านราคารับซื้อไฟฟ้า (Competitive Bidding) ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขใหม่ ที่แตกต่างไปจากหลักเกณฑ์เดิมที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 ที่กำหนดราคารับซื้อในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ตามประเภทเชื้อเพลิง เฉลี่ย อยู่ที่ 3-5.3 บาทต่อหน่วย

160256417959

แหล่งข่าววงการพลังงานหมุนเวียน ระบุว่า เข้าใจเจตนาของภาครัฐที่มีความกังวลว่า หากรับซื้อไฟฟ้าตามอัตรา FiT ที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า แต่ภาคเอกชนอยากให้พิจารณาในหลายมิติ ทั้งมิติการดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้กับชุมชนหลังประสบปัญหาโควิด-19 ซึ่งโครงการฯนี้ จะสร้างเม็ดเงินเพิ่มขึ้น 4 เท่า หรือ หากคิดตามปริมาณรับซื้อที่รัฐกำหนดเบื้องต้น 100-150 เมกะวัตต์ ก็จะเกิดเม็ดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจผ่านการรับซื้อพืชพลังงานไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่เงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลต่อเมกะวัตต์ อยู่ที่ประมาณ 100-120 ล้านบาท

“เรื่องนี้ เอกชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยให้มาบิดดิ้งกัน เพราะอาจเกิดปัญหาซ้ำรอยโครงการเอสพีพีไฮบริดเฟิร์ม 300 เมกะวัตต์ ที่ดัมฟ์ราคารับซื้อเฉลี่ยเหลือ 2.44 บาทต่อหน่วย แต่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และปัจจุบันก็ต้องขอเลื่อนกำหนด COD โรงไฟฟ้าออกไป

อย่างไรก็ตาม วิธีการคัดเลือกโครงการฯ รัฐได้เสนอหลายทางเลือก เช่น การแข่งขันเสนอราคาขายไฟฟ้า การจับสลากคัดเลือก และการใช้ดุลยพินิจซึ่งถูกตีตกไป ซึ่งเอกชนเห็นว่า หากจะใช้วิธีการจับสลากฯ ก็ควรมีกระบวนการสกรีนโครงการในเบื้องต้นก่อน เช่น ต้องเป็นเกษตรกรตัวจริง ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าตัวจริง และมีพื้นที่เพาะปลูกจริง เป็นต้น เพื่อให้แน่ใจว่าโรงไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้จริง จากนั้นจึงค่อยให้โครงการฯที่ผ่านการคัดเลือกมีสิทธิจับสลากคัดเลือก เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่อไป

ส่วนการแข่งขันนั้น มองว่า ควรส่งเสริมให้เป็นการแข่งขันสร้างประโยชน์ตอบแทนให้กับชุมชนจะดีกว่า แข่งราคาขายไฟ และควรจำกัดสิทธิ์ผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิดำเนินโครงการ เช่น บริษัทเดียวกันไม่ควรได้รับสิทธิดำเนินการโรงไฟฟ้าเกิน 3-5 แห่ง เพื่อให้เกิดการ “กระจาย” การลงทุนของผู้ประกอบการ มากกว่าเกิดลักษณะของการ ”กินรวบ” ซึ่งจะกลับมาตอบโจทย์วัตถุประสงค์โครงการที่จะกระจายเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า อีกประเด็นที่ถกเถียงกัน คือเรื่องการกำหนดความเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ซึ่งเอกชน เห็นว่า วิสาหกิจชุมชน ควรเข้ามาถือหุ้นบุริมสิทธิ สัดส่วน 10% เพื่อให้ชุมชนตระหนักถึงการมีส่วนร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าไม่ละทิ้งการปลูกพืช แต่รัฐมองว่า ชุมชนไม่จำเป็นต้องร่วมถือหุ้น เพราะเกรงว่า หากการลงทุนเกิดความเสียหายขึ้นแล้วชุมชนจะต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วยอีกทั้ง ยังมีการพูดถึงเรื่องส่วนแบ่งรายได้คืนชุมชน ที่เห็นว่าควรจะต้องมี แต่จะเป็นลักษณะของเงินปันผล หรือ เงินส่งเข้ากองทุนฯนั้น ก็ยังไม่ตกผลึก

ขณะที่เรื่องการรับซื้อเชื้อเพลิงจากสัญญา Contract farming ในสัดส่วน 80% และอีก 20% ให้โรงไฟฟ้าจัดหาได้เอง มองว่า ไม่ใช่ปัญหา เพราะเมื่อขนาดของโรงไฟฟ้าเล็กลงจากเดิมไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ เหลือ 3 เมกะวัตต์ ก็เอื้อให้ขนาดของพื้นที่เพาะปลูกลดลงด้วย

“ผู้ประกอบการ ยังไม่ถอดใจโรงไฟฟ้าชุมชน เพราะเชื่อว่ายังไงก็เกิดแน่ แต่จะเกิดภายใต้เงื่อนไขใด ก็อยู่ที่รัฐจะชัดเจน”

ทั้งนี้ (ร่าง)หลักเกณฑ์ไหม่ “โรงไฟฟ้าชุมชน” ยังไม่ตกผลึก ต้องถกเถียงอีกหลายเวที ก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และ กพช.เห็นชอบให้ทันภายในเดือน ต.ค.นี้