เล่นหุ้นท่ามกลางมรสุม

เล่นหุ้นท่ามกลางมรสุม

วิกฤติโควิด-19 นั้น เมื่อเวลาผ่านมาประมาณ 8-9 เดือนแล้วก็ดูเหมือนว่าจะรุนแรงกว่าที่ทุกคนคิด เพราะการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ “ล่าสุด” นั้น บ่งบอกว่าวิกฤติครั้งนี้น่าจะรุนแรงไม่แพ้ “ต้มยำกุ้ง” ที่เกิดขึ้นในปี 2540

คือปีแรกที่เกิด เศรษฐกิจติดลบถึงประมาณเกือบ 10% และหลังจากนั้นก็จะฟื้นตัวดีขึ้นประมาณ 4-5% ต่อปีในอีก 2-3 ปีข้างหน้า สิ่งที่อาจจะแตกต่างกันก็คือ ความ “เจ็บปวด” ของผู้คนในวิกฤติปี 2540 คือ “คนรวย” ที่เป็นเจ้าของธุรกิจและผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่บริษัทแทบล้มละลายและขาดสภาพคล่องทางการเงินเพราะค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากและธนาคารไม่มีเงินจะให้กู้ ตรงกันข้าม วิกฤติโควิด-19 นั้น คนที่เจ็บปวดก็คือ “คนจน” ที่ต้องตกงานหรือต้องลดเงินเดือนลงเพราะ “ไม่มีงานจะทำ” และธุรกิจ SME ที่อาจจะต้องเจ๊งเพราะขายของไม่ได้

สิ่งที่ตามมาจากความแตกต่างของวิกฤติทั้งสองครั้งนั้นก็คือตลาดหุ้น หลังวิกฤติปี 2540 อานิสงส์จากการที่ระบบการเงิน “ล่มสลาย” และคน “เคยรวย” ต่างก็ไม่มีเงินที่จะมาลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ปริมาณการซื้อขายหุ้นจึงลดลงมากและส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นตกต่ำลงต่อเนื่องยาวนาน จริงอยู่ ดัชนีก็มีการปรับตัวขึ้นบ้างเป็นระยะ แต่ปริมาณการซื้อขายก็มีน้อยมาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ พื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนต่างก็ย่ำแย่แทบเอาตัวไม่รอด เหตุผลที่จะลงทุนซื้อหุ้นจึงแทบไม่มีแม้ว่าราคาหุ้นบางตัวจะต่ำมากจนแทบไม่น่าเชื่อ หุ้นระดับ “ซุปเปอร์สต็อก” บางตัวอาจจะขายในราคา PE ไม่เกิน 10 เท่าเนื่องจากราคาหุ้นตกลงมามากแต่ก็ไม่มีใครต้องการ นักลงทุนส่วนบุคคลทั้งรายย่อยและรายใหญ่ต่างก็หายไปจากตลาด ในตอนนั้นไม่มีใครพูดว่า “วิกฤติคือโอกาส”

วิกฤติโควิด-19 นั้น ตลาดหุ้นกลับคึกคักขึ้น อานิสงส์จากการที่มีเม็ดเงินและสภาพคล่องในระบบสูงขึ้น “คนรวย” มีเงินสดเหลือเฟืออานิสงส์จากการที่ประเทศไทยลดระดับการลงทุนในธุรกิจลงมานาน ส่วนคนชั้นกลางระดับสูงต่างก็เก็บเงินเพื่อการเกษียณ และอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น พวกเขาจึงย้ายเงินมาลงทุนในตลาดหุ้น นับเฉพาะจากต้นปีถึงวันนี้ นักลงทุนส่วนบุคคลซื้อหุ้นสุทธิไปแล้วกว่า 200,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันที่ซื้อสุทธิไปกว่า 70,000 ล้านบาท คำพูดที่ว่า “วิกฤติคือโอกาส” ได้รับการกล่าวขวัญกันทั่วไป ราคาของหุ้นหลายกลุ่มและหลายตัว “ทะลุเพดาน” คือปรับตัวขึ้นสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 มากมายทั้งๆ ที่ผลประกอบการ “ปกติ” นั้น แม้ว่าจะไม่เลวร้าย แต่ก็ไม่ได้ดีขึ้น ว่าที่จริงในตลาดหุ้นไทยนั้น แทบไม่มีบริษัทที่ได้ประโยชน์ระยะยาวจากโควิดเลย

การที่หุ้นบางตัวหรือบางกลุ่มปรับตัวขึ้นไปมากในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังตกต่ำลงมากนั้น ถ้ามองอย่างผิวเผินก็อาจจะดูว่าเป็นเรื่อง “ปกติ” สำหรับวิกฤติครั้งนี้ที่โลกเต็มไปด้วยสภาพคล่องทางการเงินที่ถูกอัดฉีดเข้าไปในระบบโดยรัฐบาลของประเทศต่างๆ และเม็ดเงินเหล่านั้นต่างก็ต้องวิ่งหาทรัพย์สินที่มีอย่างจำกัดซึ่งก็ผลักดันให้ทรัพย์สินต่างๆ โดยเฉพาะหุ้นมีราคาเพิ่มขึ้น แต่ก็แน่นอนว่าไม่ใช่หุ้นทุกตัว ว่าที่จริงหุ้นส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่ได้ขึ้นเลย มันอาจจะตกลงมาเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้บริษัทขายสินค้าได้น้อยลงและกำไรก็ลดลงมาก และดังนั้น ราคาหุ้นก็ตกลงมามากเป็น “วิกฤติ” อย่างไรก็ตาม บริษัทและกลุ่มบริษัทบางกลุ่ม เช่น หุ้นในกลุ่มดิจิทัลหรือไฮเทคนั้น ยอดขายและกำไรอาจจะปรับตัวขึ้นมากเนื่องจากโควิด-19 ที่ทำให้คนต้องปรับพฤติกรรมซึ่งต้องอาศัยสินค้าหรือบริการของบริษัทเพิ่มขึ้น ดังนั้น หุ้นเหล่านั้นก็มีราคาเพิ่มขึ้นมาก และในประเทศหรือตลาดที่พัฒนาอย่างในสหรัฐหรือในจีน ราคามันขึ้นไปมากเสียจนสามารถชดเชยการตกลงมาของหุ้น “ยุคเก่า” ได้ ผลก็คือ ดัชนีหุ้นปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ด้วยซ้ำ

ประเทศหรือตลาดหุ้นไทยเองนั้น ถึงวันนี้เราก็มีหุ้นบางตัวหรือบางกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นไปมากคล้ายๆ กับในตลาดหุ้นของอเมริกาแม้ว่าการปรับตัวขึ้นจะไม่สามารถชดเชยการตกลงมาของหุ้นโดยเฉพาะที่เป็นตัวใหญ่ๆ ในตลาดได้ เพราะหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมา “สวนกระแส” นั้น แทบทั้งหมดเป็นหุ้นตัวเล็กหรือกลางที่มีการ “เก็งกำไร” สูงมาก เห็นได้จากการที่หุ้นเหล่านั้นมีปริมาณการซื้อขายสูงติดอันดับ 1 ใน 10 หุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด บ่อยครั้ง ซึ่งก็มีส่วนทำให้ตลาดหุ้นไทยยังมีความคึกคักและดึงดูดให้นักลงทุนหน้าใหม่เข้ามา “เล่นหุ้น” ในตลาดเพิ่มขึ้นมากทั้งๆ ที่ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโดยรวมนั้นค่อนข้างแย่

ประเด็นก็คือ หุ้น “ยอดนิยม” ที่มีราคาเพิ่มขึ้นมากเกินกว่าช่วงก่อนโควิด 19 และมีราคาที่แพงมากวัดจากค่า PE และค่าอื่นๆ นั้น มีเหตุผลเพียงพอไหม? เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ มันคล้ายๆ กับหุ้นไฮเทคในสหรัฐหรือจีนที่มีผลประกอบการและพื้นฐานในระยะยาวดีขึ้นไหม? คำตอบของผมก็คือ ไม่! เหตุผลก็เพราะว่า เราแทบจะไม่มีหุ้นที่เรียกว่าเป็นหุ้นไฮเทคที่มีขนาดที่มีนัยสำคัญเลยในตลาดหุ้น ตรงกันข้าม หุ้นแทบทุกตัวนั้นประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ลดทอนกำลังซื้อของคนไทยในประเทศ ดังนั้น บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดที่มักจะเป็นผู้ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคจึง “เจ็บตัว” กันถ้วนหน้า และดังนั้นราคาหุ้นจึงลดลงและน่าจะมีมูลค่าที่เหมาะสม เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ หุ้นเหล่านี้ต่างก็ถูกถือและลงทุนโดยนักลงทุนต่างประเทศและสถาบันในประเทศ ดังนั้น หุ้นตัวใหญ่จึงแทบจะไม่มีตัวไหนที่ปรับตัวขึ้นเลย

มาดูหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงเป็นกลุ่มดูบ้างเพื่อจะดูว่ามีเหตุผลเพียงพอและสอดรับกับพื้นฐานของกิจการหรือไม่

กลุ่มแรกก็คือหุ้นที่ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่งออกเป็นหลัก เหตุผลหรือสตอรี่ที่ใช้ก็คือ มันมีความต้องการมากขึ้นเนื่องจากคนต้องการอุปกรณ์ไฮเทคมากขึ้น แต่นี่อาจจะเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” เพราะธุรกิจนี้มักมีผู้แข่งขันกันมากในตลาดโลก ภายในระยะเวลาหนึ่ง ราคาของสินค้าก็จะลดลง ผู้ผลิตก็จะมีกำไรลดลง ในระยะยาวแล้วก็เป็นไปได้ว่ายอดขายของบริษัทอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างถาวรแต่ไม่มาก แต่ที่สำคัญก็คือ กำไรของบริษัทก็จะไม่โตเร็วเหมือนช่วงที่สินค้ากำลังเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ดังนั้น หุ้นจึงไม่ควรมีราคาที่แพงเกินไป เพราะนี่คือสินค้า “โภคภัณฑ์” ค่า PE ไม่ควรเกิน 10-15 เท่า ไม่ใช่กว่า 40-50 เท่า อย่างที่เป็นอยู่

กลุ่มต่อมาก็คือผู้ผลิตและขายสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะที่ได้ประโยชน์จากโควิดซึ่งก็คือผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อเช่น ถุงมือยาง นี่ก็คล้ายๆ กับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพียงแต่ว่าการเพิ่มขึ้นของความต้องการแรงกว่ามาก ส่งผลให้ผลประกอบการดีเยี่ยมในช่วงเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน ผู้ผลิตและกำลังการผลิตใหม่ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นเร็วมากและผลประกอบการจะถดถอยกลับมาอย่างรวดเร็วเพราะกำลังการผลิตจะล้น ดังนั้น ราคาหุ้นที่ขึ้นไปเกินพื้นฐานระยะยาวมากก็จะถอยกลับมาอย่างแรงได้

หุ้นกลุ่มอุปโภคบริโภคที่ขายสินค้าหรือบริการซึ่งรวมถึงการเงินให้กับคนทั่วไปบางตัวก็มีราคาปรับตัวขึ้นไปรุนแรงแม้ว่าจะไม่เท่าสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าว หุ้นในกลุ่มนี้มักจะเป็นบริษัทที่ยังมีรายได้และกำไรที่ “น่าพอใจ” เพราะไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากเหมือนหุ้นอื่นๆ ที่ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคเหมือนกัน ดังนั้น มันจึงถูกมองว่าเป็นหุ้นที่ “ดีเยี่ยม” ในภาวะที่คนอื่นลำบากกันหมด เหตุผลอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อพ้นภาวะโควิดระบาดไปแล้ว มันก็อาจจะกลับมาโตเป็นหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ได้ เพราะมันเป็น “ผู้นำ” ในธุรกิจที่มี “แบรนด์” หรือมีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนและโตต่อไปได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ นาทีนี้ “นักเก็งกำไร” ทุกคนต่างก็มองหุ้นที่จะเข้าไป “เล่น” เก็งกำไรทุกวัน หุ้นตัวไหนที่เข้าข่าย เช่น มีสตอรี่ หุ้นมี Free Float ต่ำ มี “เจ้ามือ” ที่เป็นที่ยอมรับ มีราคาที่ขึ้นลงรวดเร็วและหวือหวาแทบทุกวัน ก็จะได้รับความสนใจ ดังนั้น ราคาหุ้นก็ขึ้นไปเกินราคาก่อนโควิด

หุ้นกลุ่มสุดท้ายก็คือ IPO ซึ่งช่วงนี้เป็น “สุดยอด” ของการเล่นหุ้นเก็งกำไร และแน่นอนว่าต้องเป็น IPO ตัวเล็กและ Free Float น้อยที่จะสามารถปรับตัวขึ้นไปสูงมากถึง 200% ในวันแรกได้ แต่ถ้าเป็นตัวใหญ่และถูกซื้อโดยนักลงทุนสถาบันและต่างชาติ ก็จะไม่เข้าเกณฑ์นี้

ทั้งหมดนั้น ผมก็เพียงแต่อยากเตือนว่า การเล่นหุ้นในภาวะที่เหมือนอยู่ท่ามกลาง “มรสุม” ทางเศรษฐกิจนั้น มันไม่ใช่การลงทุนที่มักกล่าวกันว่า “มีโอกาสในวิกฤติ” แต่มันคือการ “เก็งกำไร” ที่โอกาสได้หรือเสียมีพอๆ กัน ถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาว เราควรจะหลีกเลี่ยง เพราะโอกาสในวิกฤตินั้นหมายความว่าเราซื้อหุ้นที่ดีเยี่ยมในราคาที่ต่ำกว่าที่มันเคยเป็นมาก ไม่ใช่ในราคาที่สูงกว่าที่เคยเป็น