ไม่มีเหตุยื้อแก้รธน. "กมธ.พิจารณาร่างแก้รธน.ก่อนรับหลักการ" ย้ำปฏิทินงานต้อง เสร็จ22ต.ค.นี้

ไม่มีเหตุยื้อแก้รธน. "กมธ.พิจารณาร่างแก้รธน.ก่อนรับหลักการ" ย้ำปฏิทินงานต้อง เสร็จ22ต.ค.นี้

"นิกร จำนง" ฐานะกมธ. ย้ำไม่มีเหตุยื้อการแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมเผยร่างแก้รธน. ฉบับไอลอว์ตรวจสอบจาก "มท." เสร็จแล้ว ผ่าน9หมื่นชื่อ สภาฯ ร่อนจดหมายให้คัดค้านหรือไม่

            นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่... ) พ.ศ....​ก่อนรับหลักการ รัฐสภา กล่าวต่อประเด็นที่กลุ่มรี-โซลูชั่น นำโดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าตั้งประเด็นถึงกระบวนการยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญในที่ประชุมรัฐสภา ว่า การทำงานของกมธ.ฯ กำหนดเวลาชัดเจน โดยวันที่ 22 ตุลาคมนี้จะทำรายงานให้เสร็จ โดยตนฐานะ ประธานอนุกมธ.จัดทำรายงาน และเป็นอนุกมธ.พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ได้กำหนดเวลาทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาดังกล่าว โดยการประชุมของอนุกมธ. ประเด็นข้อกฎหมาย นัดประชุมอีก 3 ครั้ง คือ วันที่ 14 ตุลาคม, วันที่ 15 ตุลาคม และวันที่ 19 ตุลาคม เพื่อสรุปความเห็นของอนุกมธ.ฯ ต่อ 6 ประเด็นข้อกฎหมาย ทั้งนี้การสรุปความเห็นดังกล่าวจะไม่ลงมติเพื่อชี้ขาด แต่จะนำเสนอรายงานให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาและมีมติในวาระรับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

            นายนิกร กล่าวด้วยว่าสำหรับประเด็นข้อกฎหมายที่พิจารณาแล้วเสร็จ ได้แก่ 1.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ​ที่ 18-22/2555 กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติถามความเห็นประชาชน อนุกมธ.ฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้กับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้ เพราะในมาตรา 256 (8) กำหนดให้ทำประชามติหลังจากท่ีรัฐสภาทำเนื้อหาแล้วเสร็จและก่อนการนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ และ 2.การทำประชามติ ทำครั้งเดียวหลังจากที่สภาฯ ทำเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติมแล้วเสร็จ

 

            “ไม่มีประเด็นและเหตุที่จะยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะกมธ. และอนุกมธ. ได้กำหนดปฏิทินการทำงานไว้แล้ว และไม่มีประเด็นใดต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนรัฐสภาลงมติรับหลักการ ส่วนการกำหนดวันนัดประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติรับหรือไม่รับหลักการ ช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯ เดือนพฤศจิกายนนั้น เป็นอำนาจของประธานรัฐสภาพิจารณา ซึ่งผมเชื่อว่าเมื่อเปิดสมัยประชุมแล้ว วาระจ่อรอพิจารณาแล้ว”นายนิกร กล่าว

            นายนิกร กล่าวด้วยว่าส่วนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ที่กลุ่มไอลอว์เป็นผู้นำยื่นต่อรัฐสภานั้นจากการสอบถามสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ทราบว่าขณะนี้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยืนยันผู้เข้าชื่อสนับสนุน จาก 1แสนราย แล้วเสร็จ และมีรายชื่อเป็นผู้มีตัวตน มีสิทธิเลือกตั้ง ประมาณ 9หมื่นรายชื่อ และจากนี้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะส่งจดหมายไปยัง 9หมื่นรายชื่อ เพื่อสอบถามว่าจะคัดค้านรายชื่อที่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากคัดค้านให้ส่งจดหมายมายังสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ส่วนรัฐสภาจะชะลอการลงมติรับหรือไม่รับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ญัตติ เพื่อรอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และมติของที่ประชุมร่วมส.ว., ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และ ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาล

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับประเด็นที่ศึกษาข้อกฎหมาย ทั้ง 6 ประเด็น ที่อนุกมธ.ฯ ตั้งประเด็นไว้ ได้แก่ 1.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในญัตติที่ 1-2 ว่าด้วยแก้ไขมาตรา 256 และให้มี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดกับมาตรา 256 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 ที่สรุปสาระได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติถามความเห็นประชาชนก่อน หรือไม่, 2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และตั้งส.ส.ร. นั้นต้องออกเสียงประชามติก่อนหรือไม่ และต้องเสียงประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง, 3. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในญัตติที่ 3 - 6 ว่าด้วยแก้ไขเป็นรายมาตรานั้น ขัดกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามญัตติที่ 1-2 หรือไม่ เพราะมีข้อพิจารณาคือ ทำให้เกิดองค์กรร่างรัฐธรรมนูญหรือแก้ไขเพิ่มเติม 2องค์กรในเวลาเดียวกัน, 4.ตรวจสอบสิทธิของส.ส. ที่ร่วมลงลายมือชื่อในญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ทำได้มากกว่า1ญัตติหรือไม่, 5.การตั้งสมมติฐาน กรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรา ไม่ถูกรับหลักการ แต่ร่างว่าด้วยตั้งส.ส.ร. ผ่าน สิทธิของส.ส.ร. จะนำรายมาตราที่ไม่ผ่านเสียงรับหลักการมาพิจารณาได้อีกหรือไม่ 
 
            และ 6. คือ การพิจารณาพระราชอำนาจที่บัญญัติไว้ในมาตราอื่นๆของรัฐธรรมนูญ นอกจากหมวด 2 พระมหากษัตริย์  โดยทางคณะอนุกมธ.ฯ จะพิจารณาเนื้อหาในวันที่ 14 ตุลาคมนี้.