'อาคม' เผย ​4 แผนฟื้นเศรษฐกิจ หากกำลังซื้อไม่ฟื้นอาจกู้เพิ่มเติม

'อาคม' เผย ​4 แผนฟื้นเศรษฐกิจ หากกำลังซื้อไม่ฟื้นอาจกู้เพิ่มเติม

รมว.คลัง เผย​ 4 แผนงานหลัก​ ดูแลเศรษฐกิจ​ คือ​ ดูแลสภาพคล่อง​ เพิ่มกำลังซื้อในประเทศ​ ช่วยธุรกิจท่องเที่ยว​ และเร่งรัดเบิกจ่ายงบ ระบุ​ หากกำลังซื้อในประเทศและต่างประเทศยังไม่ฟื้น อาจพิจารณากู้เพิ่มเติม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่เปิดเผยภายหลังพิธีทำบุญถวายพระราชกุศลรัชกาลที่​ 9​ ถึงแผนการดูแลเศรษฐกิจว่า​ จะประกอบด้วย​ 4 แผนงานหลัก​ คือ​ 1. ดูแลสภาพคล่อง 2.เพิ่มกำลังซื้อในประเทศ​ 3.ช่วยธุรกิจท่องเที่ยว​ 4.เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ

เขากล่าวว่า​ มาตรการทางเศรษฐกิจมี ศบศ.คอยดูแลอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งระยะเร่งด่วน เราทราบกันอยู่ว่าขณะนี้เศรษฐกิจของเรา ไตรมาสหนึ่งและไตรมาสที่สอง ติดลบ ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19กันทั่วโลก เพราะฉะนั้นงานเร่งด่วน คือ 1. เรื่องธุรกิจทั้งหลาย ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ดังนั้น​ ปัญหาสภาพคล่องถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเศรษฐกิจของภาคเอกชนและประชาชน คิดเป็นประมาณ 70 %ของจีดีพี 20% นั้น​ เป็นส่วนของรัฐ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐต้องเข้าไปช่วยดูแลด้วย

ปัญหาที่สอง​ คือ ผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งต่อเนื่องมาจากช่วงที่เราคุมเข้มในเรื่องโควิด-19 คนไม่ออกไปทานข้าวนอกบ้าน และแม้ช่วงที่เราผ่อนคลายมาตรการแล้วอัตราการบริโภคของเราก็ยังต่ำอยู่ ซึ่งเราก็มีมาตรการของ ศบศ. ออกมาช่วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชน ออกมาอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่การจ่ายเงิน 5 พันบาทเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผกระทบ ซึ่งเป็นการช่วยเรื่องระยะเร่งด่วน ซึ่งในเรื่องกำลังซื้อ เราจำเป็นต้องอาศัยกำลังซื้อภายในประเทศ และอย่างลืมว่า การบริโภคของเราประมาณ 50% ของจีดีพี ซึ่งเศรษฐกิจในขณะนี้เราต้องพึ่งพาในประเทศเป็นหลัก

3.ในเรื่องของสาขาที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสาขาใหญ่คือเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องการท่องเที่ยวเราต้องดูตลอดซัพพลายเชน ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ในมาตรการอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในบางส่วนมาตรการที่เสริมสภาพคล่องให้แก่กลุ่มต่างๆ เรียกว่ายังออกมาไม่ดีเท่าไหร่​ ซึ่งทาง ศบศ. ได้หารือกับรองนายกสุพัฒนพงษ์ ว่าจำเป็นต้องเร่งรัดการดำเนินการ

4.การใช้จ่ายของภาครัฐต้องต่อเนื่อง เราจะดูเรื่องการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ และเรื่องการล้างท่อที่มีเงินค้างอยู่ เพื่อให้กระแสเม็ดเงินออกสู่ระบบเศรษฐกิจ และการดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐ เพื่อให้มั่นใจว่ามีเพียงพอ ซึ่งตอนนี้ไม่มีปัญหา

"สภาพคล่อง มาตรการที่ ศบศ.ดูแลก็ครบเกือบทั้งหมด เพียงแต่ว่าในบาง sector คือ​ เรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้เราทยอยเปิด แต่ก็ยังต้องชะลอไปก่อน ดังนั้น​ ซัพพลายเชนของภาคท่องเที่ยว ตั้งแต่ชาวบ้านที่เป็นคนส่งให้ กิจการโรงแรม ภัตตาคาร ได้รับผลกระทบหมด รวมทั้งสายการบินที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งครั้งที่แล้ว ศบศ. ได้ประชุมได้ดูเรื่องนี้ และได้มอบให้สภาพัฒน์ และ ธปท ช่วยดู ซึ่งสายการบินขอซอฟท์โลนมา ศบศ. มอบให้สภาพัฒน์ และ ธปท.ช่วยกันดู​ ให้แยกว่าเป็นหนี้จากผลประกอบการหรือจากโควิด"

สำหรับเงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่การเบิกจ่ายยังล่าช้านั้น จะมีการหารือในประเด็นนี้ในระดับหน่วยงาน เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่าย

เขากล่าวอีกว่า สถาบันต่างๆที่คาดการณ์เศรษฐกิจยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากโควิดต่อเนื่อง อีก 1-2 ปี จนกว่าจะมีวัคซีน ดังนั้น เราต้องมั่นใจว่าเศรษฐกิจของเราสามารถเดินได้ในช่วงเวลานี้ ซึ่งมาตรการ re opening economy เราต้องเตรียมการว่าเราจะมีระยะการดูแลอย่างไร อย่างเรื่องการท่องเที่ยว ก็มีการศึกษาไว้แล้ว แต่ระยะเวลาอาจจะยังไม่เหมาะสม

สำหรับเงินกู้ 1 ล้านล้านเพียงพอหรือไม่นั้น เขากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจเราฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน ถ้ากำลังซื้อในประเทศและกำลังซื้อจากต่างประเทศ เริ่มฟื้นตัว ไม่เฉพาะการท่องเที่ยว แต่เรื่องการส่งออกด้วย จะทำให้ภาระเงินกู้ตรงนี้ลดน้อยลงไป ส่วนเรื่องค่าบาทที่แข็งค่าขึ้นมานั้น เป็นปัญหาโลกแตก ต้องติดตามสถานการณ์ ธปท. ดูแลอยู่แล้ว

ทั้งนี้​ ผู้สื่อข่าวได้ถามประเด็นการทำงานร่วมกับ รมช.คลัง ว่า​ จะมีปัญหาอะไรหรือไม่นั้น นายอาคม ตอบเพียงสั้นๆว่า เรายึดงานเป็นหลัก

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า เรื่องการขยายระยะเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันนั้น เป็นเรื่องที่กรมฯอยู่ในระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจะต่ออายุการลดภาษีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลืออะไรกับธุรกิจสาบการบินหรือไม่ เช่น การให้ซอฟท์โลนแก่ธุรกิจสายการบิน ซึ่งการใช้มาตรการภาษี จำเป็นต้องระมัดระวัง เพราะกระทบต่อรายได้ของภาครัฐ