'ทัชมาฮาล' อนุสรณ์รักบันลือโลก

'ทัชมาฮาล' อนุสรณ์รักบันลือโลก

จากหนังรักอมตะสะท้านโลก สู่การเดินทางไปตามหารักแท้ที่ "ทัชมาฮาล" อาคารหินอ่อนสีขาวอันเป็นทั้งสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และสถาปัตยกรรมแห่งความรัก

เมื่อ 57 ปีที่แล้วใน ค.ศ.1963 บ้านเรามีหนังอินเดียเรื่องหนึ่งเข้าฉาย ชื่อ ทัชมาฮาล (Taj Mahal) เป็นหนังที่สร้างปรากฏการณ์ให้วงการภาพยนตร์อย่างยิ่งใหญ่ เพราะโด่งดังถึงขนาดมีคนรอเข้าคิวซื้อตั๋วกันยาวเหยียด และมีผู้ชมแน่นโรงเกือบทุกรอบ ทำไมหนังเรื่องทัชมาฮาลถึงดังขนาดนั้น? ตอบง่ายๆ เพราะมีเนื้อหากินใจในท้องเรื่องความรักอมตะ อีกทั้งมีเพลงไพเราะมากถึง 8 เพลง ทำให้ผู้ชมรู้สึกเคลิบเคลิ้มไปด้วย ทว่าหนังเรื่องนี้ก็สร้างขึ้นโดยอิงจากบุคคลและเหตุการณ์ที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งของประเทศอินเดีย ในช่วงที่ยังถูกปกครองโดยราชวงศ์โมกุลที่นับถือศาสนาอิสลาม ราชวงศ์นี้เป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ มั่งคั่งร่ำรวยสุดๆ และได้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมบันลือโลกเอาไว้มากมายหลายแห่งให้กับอินเดียยุคนั้น โดยพวกโมกุลได้ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่นครอัครา (Agra) อยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่งย้ายเมืองหลวงใหม่มาอยู่ที่เดลี (Delhi)

1 ใน 7 สถาปัตยกรรมที่ได้กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ก็คือ “ทัชมาฮาล” จากฝีมือของราชวงศ์โมกุลนี้เอง มันคืออาคารหินอ่อนสีขาวสะอาดที่ว่ากันว่างดงามอย่างไร้ที่ติ งามข้ามกาลเวลา งามอย่างอมตะ และถือเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่สมมาตรที่สุดในโลก เพราะไม่ว่าจะมองจากมุมใดเราก็จะเห็นสถานที่นี้เป็นสี่เหลี่ยมด้านเท่าเหมือนกันหมด นับเป็นความชาญฉลาดของนายช่างผู้ออกแบบ จนยากจะหาอาคารใดอื่นเทียบเทียมได้ แต่ก็น่าเศร้าอยู่นิดนึงว่าปัจจุบันมลภาวะทางอากาศในอินเดีย ได้ทำให้หินอ่อนที่เคยเป็นสีขาวกลับมัวหมองลงไปมาก จนทางการอินเดียต้องบูรณะทัชมาฮาลเป็นการใหญ่

ผมรู้จัก “ทัชมาฮาล” ครั้งแรกไม่ใช่จากตัวสถานที่จริง แต่รู้จักจากหนังขาวดำปี 1963 นั่นละ และเมื่อดูจบ ก็เหมือนมีแรงดึงดูดอะไรบางอย่างทำให้ผมต้องรีบวางแผนเดินทางไปเยือนทัชมาฮาลในทันที โดยบินจากเมืองไทยไปนิวเดลี (New Delhi) จากนั้นนั่งรถไฟตู้นอนตรงสู่นครอัครา พาตัวเองย้อนเวลาหาอดีตในดินแดนที่นักรบโมกุลเคยควบม้าดังกึกก้อง โรงแรมในอัครามีให้เลือกมากมาย บางแห่งอยู่ใกล้ประตูเข้าทัชมาฮาลในระยะเดินไม่กี่นาที แต่ราคาค่าห้องก็จะสูงตามไปด้วย ส่วนคนที่พักห่างออกไปก็ไม่ต้องกังวล เพราะในเมืองมีรถแท็กซี่และรถสามล้อเครื่อง (คนอินเดียเรียก ริกชอว์) วิ่งไปมาอยู่มากมาย โบกให้ไปส่งได้ในราคาไม่แพง และต้องบอกเลยว่าแค่นั่งรถเที่ยวชมเมืองแบบ City Tour ก็แฮปปี้แล้ว เพราะอัคราเป็นเมืองที่มีกลิ่นอายอดีตเจือปนอยู่ในทุกอณูเนื้อ คนที่โหยหาวันวานและชอบเรื่องประวัติศาสตร์ ต้องหลงรักอัคราอย่างแน่นอน

ผมตื่นก่อนฟ้าสางเมื่อนาฬิกาปลุกดังขึ้นตอนตีสี่ตรง รีบนั่งรถสามล้อที่นัดไว้ไปยังริมฝั่งแม่น้ำยมุนา (Yamuna River) ในด้านที่ตรงข้ามกับทัชมาฮาล แสงแรกของตะวันเบิกฟ้ามลังเมลืองเป็นสีชมพูอ่อน เผยให้เห็นทัชมฮาลที่เพิ่งตื่นจากหลับใหล ค่อยๆ เห็นทรวดทรงรายละเอียดชัดขึ้นทีละน้อย จนในที่สุดก็เห็นโดมหัวหอมขนาดยักษ์ตรงกลาง พร้อมด้วยเสามินาเร็ต (หอขาน) สี่ต้นตั้งขนาบอยู่ตรงมุมทั้งสี่ทิศ ทัชมาฮาลในยามนี้งดงามราวกับสาวน้อยแรกแย้ม ภาพของเธอสะท้อนลงในแม่น้ำยมุนาที่เรียบดุจกระจกใสไร้คลื่น ทำให้เราเห็นทัชมาฮาลเป็นสองภาพ ทั้งภาพจริงและที่สะท้อนลงไปบนผิวน้ำ งามจนต้องหยุดหายใจ

160246955753

160246957229

ผู้ที่สร้างความงามระดับเอกอุนี้ขึ้นมาคือ เจ้าชายชาห์จาฮานแห่งราชวงศ์โมกุล ซึ่งได้ตกหลุมรักสาวสูงศักดิ์นามว่า พระนางมุมตัช เล่ากันว่าทั้งสองพระองค์รักกันมาก จนแทบจะไม่เคยอยู่ห่างกันเลย โดยตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระโอรสและพระธิดามากถึง 14 องค์ สิ่งนี้เองกระมังจึงอาจจะทำให้พระนางมุมตัชผู้เลอโฉมมีสุขภาพไม่แข็งแรง และทรงสิ้นพระชนม์ลงในการให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14 เจ้าชายชาห์จาฮานทรงโศกเศร้าเสียพระทัยจนแทบจะตายตามไปด้วย ทรงนั่งร้องไห้คร่ำครวญอยู่ข้างหลุมศพคนรักอยู่นานหลายเดือน จนในที่สุดก็ตัดสินพระทัยสร้างอนุสรณ์สถานแห่งความรักนิรันดร์ โดยใช้เวลาก่อสร้างอยู่นาน 22 ปี ด้วยหินอ่อนสีขาวคุณภาพดีที่สุด ล่องมาจากเหมืองตามแม่น้ำยมุนา และเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว เจ้าชายชาห์จาฮานก็ทรงรับสั่งให้ประหารชีวิต หรือตัดแขน ตัดขา ควักลูกตา นายช่างทั้งหมด! เพื่อมิให้มีใครสามารถสร้างอาคารที่สวยเลอเลิศเช่นนี้ขึ้นได้อีก ฟังมาถึงตอนนี้หลายคนอาจรู้สึกใช่ไหม ว่า จริงๆ แล้วทัชมาฮาลเป็นอนุสรณ์แห่งความตาย หรือเป็นอนุสรณ์แห่งรักนิรันดร์กันแน่?!

หลังจากพระอาทิตย์เริ่มลอยขึ้นสูง แดดเริ่มจ้า ผมก็เปลี่ยนโลเคชั่นจากริมฝั่งแม่น้ำตรงข้ามทัชมาฮาล ข้ามสะพานกลับเข้าสู่ตัวทัชมาฮาลที่เปิดประตูให้เข้าชมภายในได้แล้ว มันคือช่วงเวลาน่าตื่นเต้นที่รอคอยมานาน เพราะจะได้ชมมรดกโลกมรดกอารยธรรมอินเดียด้วยตาตนเอง จากประตูทางเข้าเราต้องเดินผ่านสวนและสนามหญ้าขนาดใหญ่ จนกระทั่งถึงซุ้มประตูสุดท้าย ที่เผยให้เห็นทัชมาฮาลตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า มองลอดซุ้มประตูออกไปเห็นสระน้ำและน้ำพุเรียงเป็นแนวเส้นตรง นำสายตาเข้าสู่ทัชมาฮาลอย่างลงตัวสุดๆ ขนาดอันใหญ่โตอลังการ ผสานกับความอ่อนช้อยในสถาปัตยกรรมโมกุล ที่มีเส้นสายลวดลายแลเรียบง่าย ทว่างดงาม ทำให้หัวใจเต้นระรัว ทัชมาฮาลที่ผมเห็นสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวผ่อง ล้อมรอบด้วยเสามินาเร็ตสี่ต้น สูงต้นละ 60 เมตร พร้อมด้วยมัสยิดขนาบข้าง โดมทรงหัวหอมขนาดมหึมาตรงจุดศูนย์กลางของตัวอาคาร ก็ดูกลมกลึงสอดรับกับโครงสร้างส่วนอื่นๆ อย่างพอดิบพอดี ทัชมาฮาลมีขนาดใหญ่โตมากจนผมต้องแหงนมองคอตั้งบ่า พร้อมกับความอัศจรรย์ใจว่า นี่คือผลงานจากฝีมือมนุษย์ หรือว่าองค์เทพเทวาได้มานฤมิตรไว้กันแน่?

การก่อสร้างทัชมาฮาลต้องใช้เงินทองจำนวนมหาศาลกว่า 52.8 พันล้านรูปี จนท้องพระคลังของราชวงศ์โมกุลแทบว่างเปล่า กระทั่งเจ้าชายชาห์จาฮานผู้ล่วงเข้าวัยชรา ทรงมีแผนจะสร้าง "ทัชมาฮาลสีดำ" (Black Taj Mahal) ขึ้นอีกในฝั่งตรงกันข้ามกับทัชมาฮาลสีขาว อาจเพราะเหตุนี้เองที่พระโอรสของเจ้าชายชาห์จาฮาน คือเจ้าชายออรังเซพ จับพระบิดาไปขังไว้ที่ป้อมอัครา (Agra Fort) ที่อยู่ห่างทัชมาฮาลออกไป 2 กิโลเมตร โดยให้เหตุผลว่าพระบิดาได้เสียสติไปแล้ว ทุกวันที่ถูกจองจำอยู่นั้น เจ้าชายชาห์จาฮานจะเฝ้ามองทัชมาฮาลผ่านช่องหน้าต่าง และเมื่อถึงวันสุดท้ายของชีวิต พระองค์ก็ยังทรงนอนดูทัชมาฮาลผ่านภาพสะท้อนกระจกที่ถือไว้แน่นในพระหัตถ์ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วพระบรมศพของเจ้าชายชาห์จาฮานและพระนางมุมตัช ก็ได้รับการนำไปบรรจุลงในโลงหินอ่อนไว้ข้างๆ กัน ภายในทัชมาฮาล ในที่สุดความตายก็มิอาจพรากคู่รักทั้งสองไปได้ ทว่าความตายได้นำทั้งสองพระองค์กลับมาพบและอยู่เคียงคู่กันอีกครั้ง

160246956379

160246956784

160246955786

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันก็พยายามค้นหา “ทัชมาฮาลสีดำ” ที่เจ้าชายชาห์จาฮานพยายามจะสร้างก่อนสิ้นพระชนม์ กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้มีการค้นพบบ่อน้ำในบริเวณสวน Moonlight Garden ฝั่งตรงข้ามทัชมาฮาลริมแม่น้ำยมุนา ในคืนพระจันทร์เต็มดวงจะเห็นภาพสะท้อนของทัชมาฮาลสีขาวลงมาในบ่อน้ำนี้ กลายเป็นภาพทัชมาฮาลสีดำได้อย่างน่าอัศจรรย์ หรือนี่คือทัชมาฮาลสีดำของพระเจ้าชาห์จาฮานกันแน่?

ภายในทัชมาฮาลไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพเด็ดขาด ส่วนภายนอกถ่ายภาพได้อิสระ หลังจากเข้าไปชมห้องบรรจุโลกศพของทั้งสองพระองค์แล้ว ผมก็ออกมาเดินวนดูรอบๆ เก็บรายละเอียดอันวิจิตรของสถาปัตยกรรมโมกุลผสมเปอร์เซีย มีการจำหลักหินอ่อนเป็นลวดลายไม้เถาและลายเรขาคณิตตามสไตล์อิสลามเอาไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ นอกจากหินอ่อนชั้นเลิศแล้ว ภายในทัชมาฮาลยังประดับประดาไว้ด้วยอัญมณีล้ำค่านานาชนิด ทั้งหินโมราแดงจากแคว้นปัญจาบ หยกและคริสตัลจากจีน เทอร์ควอยต์จากทิเบต หินลาพิสสีฟ้าจากอัฟกานิสถาน แซฟไฟร์จากศรีลังกา และหินคาร์นีเลียนจากคาบสมุทรอาระเบีย ฯลฯ โดยการก่อสร้างครั้งนี้ต้องใช้นายช่างมากถึง 20,000 คน และช้างอีกกว่า 1,000 เชือกเลยทีเดียว!

ผมเดินไปสุดจนถึงระเบียงด้านข้างทัชมาฮาลที่หันออกสู่แม่น้ำยมุนา แล้วก็หยิบโทรศัพท์มือถือออกมาเปิดเพลงประกอบภาพยนตร์ทัชมาฮาลเวอร์ชั่นปี 1963 มันเป็นช่วงเวลาที่ผมจะไม่มีวันลืม ณ ที่นี้ ที่ซึ่งอดีตและปัจจุบันได้มาบรรจบกัน โดยมีความรักนิรันดร์เป็นสื่อกลาง หวังว่าสักวันผมคงจะได้พบรักแท้แบบเจ้าชายชาห์จาฮานและเจ้าหญิงมุมตัชบ้างนะ

...

Getting There

  เครื่องบิน จากไทย-นิวเดลี แล้วต่อเครื่องบินในประเทศไปเมืองอัครา ติดต่อ สายการบิน Air India, Jet Airways จากนั้นต่อรถแท็กซี่ หรือชัตเทิลบัส เข้าตัวเมืองอัครา ระยะทาง 7 กิโลเมตร ส่วนการเดินทางจากโรงแรมไปทัชมาฮาล อันนี้แล้วแต่ว่าโรงแรมเราอยู่ไกลแค่ไหน บางแห่งอยู่ใกล้มากเดินไม่กี่นาทีถึง แต่บางแห่งก็ต้องนั่งแท็กซี่

  รถยนต์ จากนิวเดลี-อัครา ระยะทาง 203 กิโลเมตร ใช้เวลา 3-5 ชั่วโมง มีรถบัสออกจากสถานี Sarai Kale Khan Bus Station ถึงเมืองอัคราที่สถานี Idgah Bus Station

  รถไฟ จากนิวเดลี-อัครา มีรถไฟวิ่งทุกวัน ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เป็นการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว แนะนำรถไฟสาย Shatabdi Express ติดแอร์ ค่าตั๋วชั้นสองประมาณ 410 รูปี ค่าตั๋วชั้นหนึ่งประมาณ 810 รูปี แต่ถ้างบน้อย ให้นั่งรถไฟสาย Taj Express ลงรถไฟได้ที่สองสถานี คือ Agra Cantt และ Agra Fort