'อดีตนายกแพทยสภา'แนะแพทย์เมื่อถูกฟ้องอาญา

'อดีตนายกแพทยสภา'แนะแพทย์เมื่อถูกฟ้องอาญา

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ. อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา เล่าประสบการณ์และความรู้สึกระหว่างการต่อสู้คดี หลังถูกฟ้องอาญา

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ. อำนาจ กุสลานันท์
อดีตนายกแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวเล่าประสบการณ์และความรู้สึกระหว่างการต่อสู้คดี เมื่อผมถูกฟ้องอาญา แพ่ง แพทยสภา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในมูลเหตุที่แตกต่างกัน ใจความว่า 

เมื่อเดือนก.พ.59มีคำฟ้องคดีอาญามาแขวน (ทางกฎหมายเรียกว่าปิดหมาย) ไว้ที่ประตูรั้วบ้านพ่อผม โชคดีที่คนในบ้านไม่มีใครกล้าเซ็นรับ ทำให้ได้ขยายเวลาที่ต้องยื่นคำให้การแก้คดีต่อศาลเพิ่มอีก 15 วันรวมเป็น 30 วัน และโชคดีอีกชั้นหนึ่งคือการฟ้องคดีเกิดก่อนที่พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559จะใช้บังคับ (17 ส.ค. 59) จึงต้องฟ้องต่อศาลทั่วไป เพราะถ้าถูกฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ จะทำให้คนที่ไม่ดูรายละเอียดอาจเข้าใจผิดว่าผมถูกกล่าวหาว่าทุจริตซึ่งเสียหายมาก เรียกว่าเฉียดฉิวจริง ๆ ครับ

ในคำฟ้องบรรยายว่าผมได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา2มาตราคือ
1.ม.157 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
2.ม.137 “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

มูลเหตุแห่งคดีเกิดจากการที่ตำรวจได้มีหนังสือมายังแพทยสภาว่ามีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษแพทย์ท่านหนึ่งว่าได้ผ่าตัดผู้ป่วยโดยประมาทแล้วเสียชีวิตจึงได้ส่งเวชระเบียนมาพร้อมขอความเห็นว่า"แพทย์ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพแล้วหรือไม่ และได้กระทำโดยประมาทหรือไม่” หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการวิชาการของแพทยสภาได้พิจารณาแล้วสรุปความเห็นว่า “แพทย์ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพแล้ว การเสียชีวิตเกิดจากภาวะการบาดเจ็บของผู้ป่วยเอง” ผมจึงได้ลงนามในหนังสือตอบพนักงานสอบสวนไปตามความเห็นของคณะอนุกรรมการวิชาการฯ ในฐานะนายกแพทยสภาเมื่อปีพ.ศ.55

ทำให้พนักงานสอบสวนทำสำนวนเสนอและอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องแพทย์ ต่อมาทายาทผู้ป่วยจึงมาฟ้องผมแทนในปีพ.ศ.59

ถึงผมจะไปศาลเป็นประจำแต่นั่นคือไปในฐานะพยาน ซึ่งแม้บางคดีจะมีความกดดันและเครียดบ้างจากคำถามของทนายความแต่ก็เทียบไม่ได้เลยกับการขึ้นศาลในฐานะจำเลย อีกทั้งการฟ้องในมาตรานี้ก็ได้เคยทำให้ผู้บริหารระดับสูงต้องติดคุกมาแล้วไม่น้อย ดังนั้นผมจึงต้องเตรียมคดีกับท่านอัยการ (ที่เป็นทนายแก้ต่างให้) อย่างเต็มที่ โดยตั้งธงไว้ว่าจะต้องชนะตั้งแต่ยกแรกในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนี้ให้ได้

ท่านอัยการแนะนำว่าผมไม่ควรไปศาลในวันสืบพยานเพราะถ้าศาลสั่งประทับรับฟ้องในวันนั้นผมอาจประกันตัวไม่ทัน มีสิทธิต้องนอนค้างคืนในห้องขังได้ แต่ผมมีความเห็นต่างว่าควรไปนั่งคู่อยู่กับท่านเพื่อช่วยท่านคิดในระหว่างการซักค้านในเรื่องทางวิชาการทางการแพทย์ เพราะพยานโจทก์เป็นแพทย์ที่จบกฎหมายและมีความช่ำชองในการเป็นพยานโจทก์ในคดีที่แพทย์ถูกฟ้องมาหลายคดีมาก ดังนั้นผมจึงเรียนยืนยันกับท่านว่าผมขอไปด้วย

วันสืบพยาน ก.ค.59 โจทก์มีพยานหลายปากโดยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนี้ฝ่ายจำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบทำได้เพียงซักค้านทำลายน้ำหนักพยานโจทก์เท่านั้นจึงมีความเสียเปรียบในการต่อสูคดีอยู่มาก ผมจึงต้องเตรียมหลักทรัพย์ไปพร้อมประกันตัวอย่างเต็มที่ (ยังไม่รู้ว่าจะพอหรือเปล่า)

การสืบพยานเริ่มตั้งแต่เช้า ภาคบ่ายพยานที่เป็นแพทย์เบิกความว่าการที่ผมได้เป็นผู้ลงนามในหนังสือตอบพนักงานสอบสวนต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเห็นของคณะอนุกรรมการวิชาการโดยถือว่าเป็นความเห็นของผม จึงเป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือแพทย์ที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำโดยประมาทในการผ่าตัดเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การสืบพยานและซักค้านเป็นไปอย่างเข้มข้นและเข้าเนื้อหาทางวิชาการลึกพอสมควร จึงใช้เวลายาวนานมากจนถึงประมาณหกโมงครึ่งจึงเสร็จ และศาลนัดฟังคำสั่งในวันอื่น

ก.ย. 59 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งว่าคดีไม่มีมูลให้ยกฟ้อง ต่อมาฝ่ายโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเมื่อ เม.ย. 60 คดีจึงจบเพราะฎีกาไม่ได้

หากท่านถูกดำเนินคดีอาญาควรสู้ให้ชนะตั้งแต่ยกแรกคือ
1.กรณี (ส่วนใหญ่) ที่มีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อตำรวจ ท่านควรสู้ให้จบโดยพนักงานสอบสวนทำสำนวนเสนอและอัยการสั่งไม่ฟ้อง
2.กรณี(ส่วนน้อย)ที่ผู้เสียหายฟ้องเองควรสู้ให้จบโดยศาลพิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องให้ได้

ต้องเตรียมหลักทรัพย์และหลักฐานการประกันตัวไว้ให้พร้อมนะครับ เพราะเคยมีแพทย์หลายคนถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องขังระหว่างรอประกัน

แต่ถ้าท่านแพ้ยกแรกไปแล้วจะต้องดำเนินการดังนี้

ตั้งหลักใหม่โดย ขอความเห็นจากอาจารย์/เพื่อนแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานั้น ๆ ว่าท่านผิดหรือไม่
1.ถ้าเห็นว่าท่านไม่ผิดต้องสู้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะต้องยอมเหนื่อยมาก ๆ
2.ถ้าเห็นว่าท่านผิดควรรับสารภาพเพื่อการลดโทษและรอลงอาญา

เรื่องที่ผมถูกฟ้องคดีแพ่ง ถูกร้องเรียนต่อแพทยสภา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รอไว้ในคราวหน้านะครับ