สปสช.แจงแนวทางส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ กทม. 'ปีงบ 64' เน้นจองคิวลดแออัด-พิสูจน์ตัวตน

สปสช.แจงแนวทางส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ กทม. 'ปีงบ 64' เน้นจองคิวลดแออัด-พิสูจน์ตัวตน

สปสช.เขต13 กทม. ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค "ปีงบประมาณ 2564" เน้นเปลี่ยนระบบการเบิกจ่ายเงินชดเชยที่มีการพิสูจน์ตัวตนทั้งผู้รับและผู้ให้บริการ พร้อมเน้นระบบจองคิวรับบริการล่วงหน้าเพื่อลดความแออัดในหน่วยบริการ

เมื่อวันที่ 11 ต.ค.63  นายประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพเขต 13 กทม. กล่าวในการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) เขต กทม. "ปีงบประมาณ 2564" ว่า ในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานโดยรวมอาจจะลดลงเนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิด การลงพื้นที่ทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพทำได้ลำบาก จำนวนตัวเลขการให้บริการจึงลดจาก 8.1 ล้านครั้งในปี 2562 เหลือ 7.6 ล้านครั้งในปี 2563 และความครอบคลุมในการให้บริการลดจาก 36.61% เหลือ 26.71%

สำหรับการดำเนินการใน "ปีงบประมาณ 2564" นั้น ได้เน้นการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย

1.เปลี่ยนระบบการเบิกจ่ายเงินชดเชย P&P ให้เป็นการเบิกจ่ายที่มีการพิสูจน์ตัวตน โดยในส่วนของประชาชน จะให้จองคิวนัดหมายรับบริการมาทางแอปพลิเคชันเป๋าตังของธนาคารกรุงไทย หรือแอปฯ สปสช.สร้างสุข เมื่อจองแล้วหน่วยบริการจะทราบว่าวันไหนจะมีผู้รับบริการมาหากี่คน ด้วยกิจกรรมอะไร โดยหน่วยบริการสามารถกำหนดโควตาได้ว่าจะบริการประชาชนในแต่ละกิจกรรมได้วันละกี่คน ส่วนคนที่ไม่สะดวกใช้แอปฯสามารถ walk-in เข้าไปที่หน่วยบริการได้เลย แต่ต้องถือบัตรประชาชนไปด้วยเพื่อพิสูจน์ยืนยันตัวตนกับเครื่องอ่านสมาร์ทการ์ดเมื่อรับบริการเสร็จเรียบร้อย

ทั้งนี้ นอกจากพิสูจน์ตัวตนผู้รับบริการแล้ว สปสช.ยังขอพิสูจน์ตัวตนหน่วยบริการที่ส่งเบิกเงิน แม้ว่าอาจจะเป็นการเพิ่มความยุ่งยากแก่หน่วยบริการมากขึ้น แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้เกิดความถูกต้องโปร่งใส และถ้าหน่วยบริการสามารถส่งข้อมูลการเบิกชดเชยมาอย่างถูกต้อง สปสช.ก็สามารถจ่ายเงินชดเชยค่าบริการได้เร็วขึ้นด้วย

2.ปรับระบบการเข้ารับบริการเป็นการจองคิวล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดที่หน่วยบริการ ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลก็จะทราบล่วงหน้าและเตรียมการให้บริการได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี หากผู้รับบริการไม่สะดวกจองก็สามารถ Walk-in ได้ แต่จะไม่รับรองว่าจะได้บริการในวันนั้นเลย

3.ปรับระยะเวลาการจ่ายให้เร็วขึ้น
4.เน้นเรื่องการฝากครรภ์คุณภาพ เพื่อให้ลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัยรวมทั้งแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งแม่และลูก
5. เน้นการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายมากขึ้น และ
6.เพิ่มความครอบคลุมในการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ได้ตามเป้าหมาย

อีกประเด็นที่นายประเทืองฝากถึงตัวแทนหน่วยบริการที่เข้าร่วมประชุมคืออยากให้หน่วยบริการจัดทำโครงการโครงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เสนอเข้ามาขอเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ให้มากขึ้น เพราะแต่ละปี สปสช.จ่ายเงินสมทบกว่า 300 ล้านบาท และ กทม.จ่ายสมทบอีกกว่า 200 ล้านบาท รวมเป็นประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี จนกระทั่งปัจจุบันมีเงินในกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ของ กทม.สะสมกว่า 1,700 ล้านบาทแล้ว

"อยากให้เขียนโครงการมาขอเยอะๆ เป็นโครงการส่งเสริมสุขภาพที่ทำร่วมกันกับชุมชน หรือแม้แต่หน่วยบริการก็ทำได้ เป้าหมายอย่างน้อย 20 โครงการต่อเขต เช่น โรงพยาบาลพบว่ามี ชุมชนที่ตั้งอยู่ของโรงพยาบาล มีปัญหาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงมาก ก็สามารถเขียนโครงการเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมให้ความรู้ได้ โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://www.bangkok.go.th/bangkokfund โดยหลักการของโครงการขอให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขเป็นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นบริการเชิงรุก หรือเป็นสิ่งที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึงหรือไม่ทับซ้อนกับสิ่งที่ สปสช.จ่ายชดเชยอยู่แล้ว" นายประเทือง กล่าว