โพลชี้! 'คนกรุง' ไม่ค่อยพอใจการจัดการปัญหา 'น้ำท่วมกรุงเทพฯ'

โพลชี้! 'คนกรุง' ไม่ค่อยพอใจการจัดการปัญหา 'น้ำท่วมกรุงเทพฯ'

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คนกรุงฯ กลัวน้ำท่วมหรือไม่” พบกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ค่อนข้างกังวล และไม่ค่อยเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำในกรุงเทพฯ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คนกรุงฯ กลัวน้ำท่วมหรือไม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6–7 ตุลาคม 2563 จากประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,322 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความกังวลต่อการเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร

การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความกังวลต่อการเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร พบว่า ร้อยละ 19.51 ระบุว่า กังวลมาก ร้อยละ 30.41 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล ร้อยละ 22.39 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล และร้อยละ 27.69 ระบุว่า ไม่กังวลเลย

ด้านความพอใจต่อการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร พบว่า ร้อยละ 9.23 ระบุว่า พอใจมาก เพราะ กรุงเทพมหานครมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี มีการวางแผนรับมือแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบการระบายที่ดีจึงทำให้น้ำลดลงอย่างรวดเร็วและบางพื้นที่ไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังเลย

ร้อยละ 30.78 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ เพราะ กรุงเทพมหานครมีการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมขัง เช่น การขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำ มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในหลายพื้นที่ทำให้ระบายน้ำได้รวดเร็วขึ้น และบางพื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขังเลย

ร้อยละ 33.21 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ เพราะ การบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานครยังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์จึงทำให้การระบายน้ำล่าช้า และร้อยละ 26.78 ระบุว่า ไม่พอใจเลย เพราะการระบายน้ำมีความล่าช้ามาก ทำให้บางพื้นที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ปัญหาน้ำท่วมขัง/น้ำรอระบายซ้ำซากขาดการเตรียมความพร้อม

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อกรุงเทพมหานครว่าจะสามารถป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้ 25.49 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย พบว่า ร้อยละ 10.14 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก ร้อยละ 30.48 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 33.89 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น และร้อยละ 25.49 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 100.00 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ตัวอย่างร้อยละ 49.24 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.76 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.98 มีอายุไม่เกิน 25 ปี ร้อยละ 14.52 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 19.90 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.01 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 28.59 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

ตัวอย่างร้อยละ 93.57 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.77 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.98 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.68 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 31.85 สถานภาพโสด ร้อยละ 63.16 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.16 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.83 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

ตัวอย่างร้อยละ 14.45 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 24.51 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.17 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 40.24 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 11.12 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.51 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 8.32 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 23.75 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 28.37 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 0.30 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 8.62 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 26.86 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.27 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.51 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 23.00 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 6.35 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 21.63 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001–20,000 บาท ร้อยละ 14.15 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001–30,000 บาท ร้อยละ 8.92 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001– 40,000 บาท ร้อยละ 12.71 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 13.24 ไม่ระบุรายได้