สำรอง 'กฎอัยการศึก' คุม 'ม็อบตุลา'

สำรอง 'กฎอัยการศึก' คุม 'ม็อบตุลา'

พล.อ.ประยุทธ์ สั่งเตรียมกำลังเต็ม'อัตราศึก' ดูแลสถานการณ์ตลอดเดือน'ตุลาคม' ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ห้ามเกิดเหตุรุนแรง

'ตุลาคม' เป็นเดือนที่มีวันสำคัญยิ่งต่อ'สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย' สองเหตุการณ์ คือ วันที่ 13 ต.ค. เป็นวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ได้ทรงงานหนักด้วยการประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยมาตลอด 70 ปี

ส่วน'วันปิยมหาราช' ตรงกับ 23 ตุลาคม ก็เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 )ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศไทยหลายด้าน และสิ่งที่โดดเด่นคือ การตัดวงจรการเป็นทาส ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่พ่อแม่มาสู่รุ่นลูก จนเป็นที่มาของการประกาศ 'เลิกทาส'

ในขณะเดียวกัน 'ตุลาคม' ถือเป็นเดือนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) ออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจ หลายประการทั้งในพื้นที่ กทม. และต่างจังหวัด

ซึ่งห้วงเวลาดังกล่าว ตรงกับการชุมนุมทางการเมือง ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยการขอใช้พื้นที่ ตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ ถนนราชดำเนิน ทำกิจกรรมตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 14 ตุลาคม เป็นต้นไป ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า จะยืดเยื้อ 7 วัน 7 คืน หรือ เป็นเดือนตามที่ 'แกนนำ'ประกาศไว้

พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการ ให้เตรียมกำลังดูแลรักษาความปลอดภัยในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเต็ม 'อัตราศึก' พร้อมกำชับห้ามเกิดเหตุความรุนแรงในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด โดยเฉพาะงานด้านการข่าวต้องแม่นยำ ป้องกัน 'มือที่สาม' ที่จะเข้ามาสร้างสถานการณ์

โดย 'ความมั่นคง' ได้ถอดบทเรียนความรุนแรงในอดีต ตั้งแต่ลอบวางระเบิดรามคำแหง ปี 2556 ลอบวางระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เมื่อปี 2559 และลอบวางระบิดระเบิดหลายจุดในพื้นที่ กทม. เมื่อปี 2562 โดยผู้ก่อเหตุล้วนเดินทางมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นกลุ่มต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะมีศักยภาพเพียงพอ

นอกจากนี้ 'ความมั่นคง' ได้นำสองเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ วันที่ 19 ก.ย.ที่สนามหลวง
มาสังเคราะห์ เพื่อประมวลผลสรุปพฤติกรรมของผู้ที่มาร่วมชุมนุมแบ่งเป็น กลุ่มนักเรียน นิสิต-นักศึกษา มีลักษณะมาแล้วก็กลับ ไม่ปักหลักค้างคืน

ส่วนกลุ่มที่เคยเป็นแนวร่วม ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) หรือ 'คนเสื้อแดง'ซึ่งมีประสบการณ์ ผ่านการชุมนุมมาหลายครั้ง อีกทั้งยังมีท่อน้ำเลี้ยงให้การสนับสนุน สามารถปักหลักชุมนุมได้ยาวนาน แต่จุดยืนไม่ชัดเจน ภายหลัง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เข้าไปสลายขั้ว เดินเกมรุกตามนโยบายของรัฐบาล มาก่อนหน้านี้

ทั้งนี้การดูแลรักษาความปลอดภัย ยังคงใช้
'แผนชุมนุม63'ที่ยกระดับมาจาก 'แผนกรกฎ 52' โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่หลัก สำหรับผู้กระทำความผิด จะให้ดำเนินคดีควบคู่ไปกับการบังคับใช้ 'พรบ.ชุมนุมสาธารณะ' บวกกับ พรก.ฉุกเฉิน ที่ยังมีผลบังคับครอบคลุมเดือน 'ตุลาคม' เรียกว่าโดน '3 เด้ง'

แม้หน่วยงาน 'ความมั่นคง' เชื่อมั่นว่า จะสามารถดูแลสถานการณ์ให้เกิดความเรียบร้อยตลอดเดือน 'ตุลาคม' แต่ได้เตรียม 'กฎอัยการศึก' เป็นแผนสำรอง กรณีเกิดความวุ่นวายกระทบความมั่นคงของประเทศ จนนำไปสู่การ 'จลาจล'

สำหรับขั้นตอนการประกาศใช้ 'กฎอัยการศึก' นั้น เป็นอำนาจของ ผู้บังคับบัญชาทหารซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่า 1 กองพัน หรือ เป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆ ของทหาร ณ ที่ซึ่งมีสงครามหรือจลาจลเกิดขึ้น นั้นหมายความว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. สามารถดำเนินการได้ทันที

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในสมัยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ก็เคยประกาศใช้ 'กฎอัยการศึก' มาแล้ว ในห้วงการชุมนุมกลุ่ม กปปส. ขับไล่ รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยการออกคำสั่งเรียกคู่ขัดแย้งทุกกลุ่มมาร่วมหาทางออกประเทศ ก่อนจะตกลงกันไม่ได้ และนำไปสู่การ 'รัฐประหาร' เมื่อ 22 พ.ค.2557