3 เดือนที่เหลือของปี กับ 3 ความไม่แน่นอน และ 3 กลยุทธ์การลงทุน

3 เดือนที่เหลือของปี กับ 3 ความไม่แน่นอน และ 3 กลยุทธ์การลงทุน

เปิด 3 กลยุทธ์การลงทุนช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2563 ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากสถานการณ์หลักๆ ในโลกที่จะส่งผลต่อตลาดการเงิน ทั้งจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการคิดค้นวัคซีนโควิด-19

ต้องยอมรับว่าปี 2020 เป็นปีแห่งความไม่แน่นอน ตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญความผันผวนอย่างหนัก เศรษฐกิจหลายประเทศหดตัวมากที่สุดในประวัติการณ์ ทำให้ธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลเข้าระบบ และในช่วง 3 เดือน ที่เหลือของปีนี้ ตลาดการเงินยังต้องพบกับความไม่แน่นอนใหญ่ๆ 3 เรื่อง ได้แก่

1.การเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐ แม้ผลโพลล์ส่วนใหญ่จะชี้ว่า นาย Joe Biden ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต จะชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดี แต่ก็มีโอกาสผิดคาดได้ดังเช่นปี 2016 ที่ผลโพลชี้ว่า นาง Hilary Clinton จะชนะ แต่สุดท้ายแล้ว นาย Donald Trump กลับพลิกล็อกชนะอย่างน่าประหลาดใจ ทั้งนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาแบบไหน ทั้งสองฝ่ายล้วนมีนโยบายหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นอันดับแรก

2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่จำนวนผู้ติดโรคโควิด-19 กลับมาเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐ และยุโรป กระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและสันทนาการ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่าการจะกลับมาปิดเมืองเต็มรูปแบบดังเช่นในเดือนมีนาคมมีโอกาสเกิดจำกัด ตราบเท่าที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ โดยปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อกว่า 35.7 ล้านราย และจำนวนผู้เสียชีวิตราว 1 ล้านราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตไม่ถึง 3% (ข้อมูล ณ 6 ต.ค.)

3.การคิดค้นวัคซีน ขณะนี้มีวัคซีนมากกว่า 240 ชนิด อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา และมี 10 ชนิดอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการทดลอง ซึ่งนอกจากความสำเร็จของวัคซีนแล้ว สิ่งที่จะเป็นความท้าทายอย่างมากคือการจำหน่ายวัคซีนไปให้ทั่วโลก เนื่องจากวัคซีนเป็นทางออกที่จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบได้

ท่ามกลางความไม่แน่นอน ยังมีปัจจัยสนับสนุนการลงทุน ได้แก่ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เราคาดว่าดอกเบี้ยทั่วโลกจะทรงตัวต่ำจนกว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นกลับมาถึงระดับก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งนั่นอาจใช้เวลาถึงปี 2022 นอกจากนี้ คาดว่าดอลลาร์ จะอ่อนค่า จากมาตรการพยุงเศรษฐกิจขนาดใหญ่ซึ่งกระทบสถานะการคลังของสหรัฐ และหาก นาย Joe Biden ได้รับเลือกตั้ง คาดจะมีนโยบายเพิ่มความเข้มงวดของกฎหมายและขึ้นภาษี ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐน่าสนใจน้อยลง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันดอลลาร์

กลยุทธ์การลงทุนที่สอดคล้องกับทั้งความไม่แน่นอนและปัจจัยสนับสนุนข้างต้น ได้แก่

1.สินทรัพย์ในเอเชียทั้งหุ้นและตราสารหนี้ เนื่องจากกิจกรรมเศรษฐกิจในเอเชียโดยเฉพาะจีน ฟื้นได้เร็วและดีกว่าภูมิภาคอื่น อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากดอลลาร์อ่อนค่า ที่เป็นผลบวกต่อกระแสเงินทุนไหลเข้า นอกจากนี้ หุ้นเอเชียจะช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนยามที่ตลาดหุ้นสหรัฐ ผันผวนตามความเสี่ยงทางการเมืองและนโยบายของรัฐบาลใหม่

2.หุ้นที่สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงหลักของโลก (Megatrend) ตัวอย่างเช่น

  • กลุ่มเทคโนโลยี - โรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ทั่วโลกใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้น และในระยะสั้น หุ้นเทคฯ ยังได้ประโยชน์จากการเว้นระยะห่างทางกายภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อหลายธุรกิจออนไลน์ เช่น การซื้อสินค้า (E Commerce) การประชุม (VDO Conference) การศึกษา (Online Education) รวมทั้งการบันเทิง (Video/Music Streaming) เป็นต้น

  • กลุ่มดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โรคโควิด-19 กระตุ้นความตระหนักรู้ต่อความสำคัญและอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้จากการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและความเสียหายของสิ่งแวดล้อม หุ้นของธุรกิจที่เข้ามาจัดการเรื่องเหล่านี้จึงได้รับความสนใจจากนักลงทุน เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานสะอาดทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล

  • กลุ่มดูแลสุขภาพ (Healthcare) ที่นอกจากได้ประโยชน์ระยะสั้นจากการคิดค้นยาและวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว หุ้นกลุ่มนี้ยังมีศักยภาพระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทั่วโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งวิถีที่ใส่ใจคุณภาพชีวิตและการดูแลสุขภาพมากขึ้น เช่น ธุรกิจปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพที่คิดค้นยารักษาโรคร้ายแรง

3.ทองคำ มักให้ผลตอบแทนดียามตลาดหุ้นเผชิญความไม่แน่นอน รวมทั้งได้ประโยชน์ในช่วงดอกเบี้ยต่ำและดอลลาร์ อ่อนค่าอีกด้วย

ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง นักลงทุนจำเป็นต้องกระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์และเลือกหลักทรัพย์คุณภาพดีที่ผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยรอบด้าน รวมถึงปรับพอร์ตลงทุนอย่างให้ทันสถานการณ์ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างขุมทรัพย์การลงทุนระยะยาว