นิคมฯ Smart Park : ต้องอัจฉริยะจริงๆ

นิคมฯ Smart Park : ต้องอัจฉริยะจริงๆ

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2563 ต่อข้อเสนอของการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต่อการลงทุนโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park จ.ระยอง มูลค่า 2,370 ล้านบาท

นิคมอุตสาหกรรม Smart Park ที่จะให้ชาญฉลาดและแบบอัจฉริยะจริง ๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับการสร้างพื้นที่ Smart ในฝันอื่น ๆ ในอนาคต ผมทราบมานานแล้วว่าทางกนอ. มีแนวคิดเรื่องนี้ ที่ต้องการให้พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมนี้จะมีสาธารณูปโภคทุกอย่าง ไม่ว่าถนน ไฟฟ้า ความปลอดภัยทึกประเภทที่ทันสมัย และมีระบบควบคุมเชื่อมโยงที่ชาญฉลาด และเน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งใจแบบลึก ๆ ว่ารถสาธารณะที่วิ่งข้างในจะเป็นรถไฟฟ้าด้วยซ้ำไป 

ผมจำได้ว่าเคยคุยกันว่าพื้นที่อัจฉริยะนี้ควรจะมีข้อมูลของโรงงาน หน่วยธุรกิจ และอื่น ๆ ที่ตั้งในพื้นที่ทั้งหมดในทุกเรื่อง และเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

ผมยกตัวอย่างว่า หากเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ เราต้องรู้ทันทีว่าสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุนั้นมีอะไรต้องระวังในการดูแลในการดับเพลิง มีสารเคมีอะไร และต้องใช้อะไรในการดับเพลิง ทิศทางลมพัด 

นอกจากนี้ พื้นที่ Smart Park จะมีการออกแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่สาธารณูปโภค พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน โดยวางเป้าหมายมุ่งเน้นให้เป็นที่ตั้งของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ได้แก่

กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์

ทั้งหมดเป็นการลงทุนของการนิคมฯ เอง โดยประมาณการว่าจะใช้เวลา 3 ปี ในการพัฒนา แต่ความน่าห่วงก็ คือ ต้องหานักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราต้องการมาลงทุนในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งไม่ง่ายเท่าไรนัก เพราะดูจากการลงทุนจากต่างประเทศในปีนี้ที่เข้ามาบ้านเรากว่าครึ่งแม้ว่าจะลงในพื้นที่ EEC แต่ก็เป็นอุตสาหกรรมในอนาคตที่เราต้องการในสัดส่วนที่ไม่มากนัก

มองภาพใหญ่แล้ว ที่ติดตามความคืบหน้าของโครงการ EEC ระยะหลัง ๆ นี้ส่วนมากจะเป็นความคืบหน้าของหน้าของโครงสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ซึ่งก็ไปตามแผน เราจะเห็นว่าแต่ละโครงการจะช้าบ้าง เร็วบ้าง แล้วแต่ลักษณะการดำเนินงาน

ถ้าเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณของรัฐก็จะไปไวนิดนึง แต่ถ้าพึ่งการลงทุนของภาคเอกชนก็จะไวช้า ตามแต่ว่าจะหาภาคเอกชนมาร่วมพัฒนาได้หรือไม่ บางโครงการยังหาคนมาร่วมลงทุนพัฒนาด้วยไม่ได้เลยแม้ว่าจะเปิดประมูลไปหลายรอบแล้วก็ตาม

ผมว่าวันนี้ EEC ค่อนข้างพร้อมกับการเตรียมตัวในอนาคต ในเรื่องคนที่ธุรกิจในพื้นที่ต้องการในอนาคตกว่า 450,000 คนนั้น ปัจจุบันก็มีการดำเนินงานหลายหน่วยงาน

โดยเฉพาะทางด้านอาชีวะนั้น ผมเห็นกระทรวงอุดมศึกษาฯ (อว.) ลงมือพัฒนาด้านอาชีวะของเราในพื้นที่หลายๆ แห่งก็ถือว่าอยู่ในระดับดีมากๆ เช่น วิทยาลัยเทคโนโลยี IRPC ที่ระยอง ที่มีการสอบแบบ “โรงเรียน-โรงงาน” ที่พัฒนาขึ้นมาร่วมกันระหว่างโรงงานกับโรงเรียน แต่สถาบันอาชีวะแห่งนี้อาจจะโชคดีเพราะสามารถฝึกงานในโรงงานในเครือของ IRPC ทั้งหมด การลงทุนและงบประมาณอาจง่ายกว่าที่อื่น ๆ เพราะมาจากกลุ่ม IRPC ทำให้การเรียนการสอนค่อนข้างทันสมัย ไม่ว่า Digital Living Library หรือห้องปฏิบัติการแบบ CNC Smart lab หรือการสอนภาษาอังกฤษแบบ V-Model สอนภาษาอังกฤษที่ใช้ในสาขาอาชีพที่วิชาชีพอาชีวะต้องใช้ในการทำงาน ฯลฯ

ผมร่ายยาวมาทั้งหมดนี้เพราะยังอยากเห็นที่ความตั้งใจของการนิคมอุตสาหกรรมวาดฝันที่จะให้ Smart Park แห่งใหม่นี้เป็นที่รวมทุกอย่างในพื้นที่ ระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะ แหล่งประสานงานและที่สร้างฝีมือคนอัจฉริยะ

รวมทั้งที่ตั้งของธุรกิจและอุตสาหกรรมอัจฉริยะ แม้แต่ระบบคมนาคมและขนส่งแบบอัจฉริยะจริงอย่างที่หวัง กลัวอย่างเดียวว่าตอนสร้างพื้นที่เสร็จแล้ว การนิคมฯ จะยอมอ่อนข้อ แก้เงื่อนไข เพื่อขายพื้นที่ได้ โดยมองเหตุผลผลตอบแทนทางการเงินในระยะสั้นมากกว่าภาพใหญ่ของ EEC และความฝันที่จะใช้ที่นี้เป็นที่จุดประกายพื้นที่อื่น ๆ