'เฟทโก้' ชงรัฐตั้งกองทุนช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี พร้อมดันกลไกรัฐมาช่วยค้ำประกัน

'เฟทโก้' ชงรัฐตั้งกองทุนช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี พร้อมดันกลไกรัฐมาช่วยค้ำประกัน

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เสนอรัฐช่วยเหลือภาคธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดทุน เล็งตั้งกองทุนช่วยซื้อหุ้นกู้เอสเอ็มอี-แปลงสินทรัพย์เป็นตราสารทางการเงิน พร้อมดึงกลไกของรัฐเป็นคนค้ำประกัน เพื่อจูงใจและลดความเสี่ยงของผู้ลงทุน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่าวันนี้ FETCO ได้มีโอกาสเข้าไปพบกับท่านรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการเสนอรัฐบาลว่าทางตลาดทุนอยากจะช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้สามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนได้ ซึ่งแนวคิดเบื้องต้น 1.มีการเสนอให้จัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อมารับซื้อหุ้นกู้ของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่นำมารวมกันออกเสนอขายโดยมีกลไกของรัฐเป็นคนค้ำประกัน เช่น การพึ่งพาบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วยค้ำประกัน เพื่อจูงใจและลดความเสี่ยงของผู้ลงทุน

ขณะที่แนวทางที่ 2.คือการแปลงสินทรัพย์เป็นตราสารทางการเงิน เช่น สินเชื่อหรือหนี้ของเอสเอ็มอี ซึ่งจะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนทั่วไปเพื่อไปลงทุนซื้อสินทรัพย์จากกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี โดยจะต้องมีกลไกค้ำประกันของภาครัฐมาช่วยลดความเสี่ยงของผู้ลงทุนเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุนได้มากขึ้น และเป็นการรองรับกลุ่มเอสเอ็มอีหลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารฯในช่วงสิ้นเดือนต.ค.นี้ ส่วนผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับอาจเป็นในรูปแบบของดอกเบี้ยหรือเงินปันผล

"ท่านรองนายกฯพูดชัดเจนว่ารัฐบาลไม่มีแนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น แต่อาจมีการตั้งกองทุนเข้ามาดูแลเรื่องพวกนี้มากกว่า ซึ่งหลังจากนี้ FETCO เตรียมเข้าหารือกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อหาข้อสรุปของแนวทางดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีการตกผนึกที่มากกว่านี้"

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่าส่วนดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนจากผลสำรวจในเดือนกันยายน 2563 พบว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ธ.ค.2563) อยู่ที่ระดับ 67.44 จุดยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รองลงมาคือสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงการระบาดระลอกสองของ Covid-19 ในหลายประเทศ ส่วนนักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงความคาดหวังการผลิตวัคซีนป้องกัน Covid-19

โดยความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในระดับ “ทรงตัว” ส่วนความเชื่อมั่นนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในระดับ “ซบเซา” ส่วนหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดคือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือหมวดธนาคาร (BANK)

สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ การกลับมาระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้งของ COVID-19 จนต้องกลับมาใช้มาตรการ lock down ในหลายประเทศ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ - จีนที่เพิ่มมากขึ้น การเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรและ EU การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ใกล้เข้ามา ปัจจัยในประเทศที่น่าติดตามได้แก่ ผลจากการอนุมัติให้บุคคลเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร รวมถึงเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) ปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ร้อนแรงขึ้น และผลจากการกลับมาเริ่มใช้เกณฑ์ปกติ "Short Selling - Ceiling & Floor" ของ SET และ TFEX”