'เอพริล เบเกอรี่' สาวน้อย มือปั้น 'ขนมเปี๊ยะ' ร้อยล้าน

'เอพริล เบเกอรี่' สาวน้อย มือปั้น 'ขนมเปี๊ยะ' ร้อยล้าน

พรสวรรค์ ฐานทุนมั่งคั่ง ไม่ใช่สูตรการันตีความสำเร็จได้เท่ากับ “ความพยายาม ผสานอดทน” เพราะมั่นใจในสูตรลับพายฮ่องกง "เอพริล เบเกอรี่" ยอมแบกภาวะ "ขาดทุน" 3 ปี ในที่สุดลูกค้ามาขอซื้อแฟรนไชส์ขยายถึง 50 แห่ง ยอดขายทะยานขึ้นไปแตะ 200 ล้านบาท ในเวลา 10 ปี

สาวน้อย ตัวเล็ก ร่างบาง อดีตแอร์โฮสเตส อร -กนกกัญจน์ มธุรพร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงหา ฟู้ด อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของขนมเปี๊ยะไส้หมูแดง เอพริล เบเกอรี่” (April ’s bakery) ผู้เคยมีฝันติดปีกนางฟ้าตั้งแต่เรียนจบ แต่เมื่อคว้าฝันเป็นแอร์โฮสเตส ให้กับสายการบินต่างชาติแห่งหนึ่งได้เพียง 3 ปี ก็เจอกับปัญหาสุขภาพประกอบกับถูกปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมจากเพื่อนร่วมงานต่างชาติ จึงตัดสินใจลาออก

พนักงานผู้มียอมทิ้งความมั่นคง! กล้าเสี่ยง มุ่งสู่ฝัน "เป็นนายตัวเองในวัย 26 ปีในวันนั้น (10 ปีก่อน) ด้วยเหตุผลไม่อยากกลับบ้าน ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด ที่จังหวัดนครสวรรค์ ช่วยกิจการร้านค้าวัสดุก่อสร้าง มีหน้าที่เพียง นั่งนับสต็อก ทอนเงิน ดูจะน่าเบื่อเกินไปสำหรับคนที่กำลังมีไฟ มีฝัน 

ทว่า ทุนรอนก้อนแรกของ ที่มนุษย์เงินเดือนยอมออกจากงาน ส่วนใหญ่จะไปลงทุนทำธุรกิจ ร้านกาแฟ” แม้จะเป็นธุรกิจดาวรุ่ง แต่ก็มีความเสี่ยง จากอัตราร้านที่เปิดมากเท่ากับอัตราปิดตัว และกนกกัญจน์ก็เป็นหนึ่งในเจ้าของร้านกาแฟที่ต้องปิดตัวในเวลาไม่ถึง 1 ปี ต้องยอมเซ้งร้านต่อให้กับคนอื่น

“เราไม่อยากกลับบ้าน อยากทำงานกรุงเทพฯ จึงเอาเงินมาเปิดร้านกาแฟที่ CDC แต่เป็นคนไม่กินกาแฟ ชอบทำแต่ขนม จึงหวังขายขนม สุดท้ายก็เจ๊งอรเล่าย้อนถึงธุรกิจแรก ประสบการณ์ยอมเซ้งร้านต่อ เพราะรู้ว่าร้านกาแฟไม่น่าจะใช่ทางสำหรับตัวเอง 

เป้าหมายต่อไปของสาวร่างเล็ก ที่ยังมีหัวใจนักสู้ ไม่ยอมถอยกลับบ้านต่างจังหวัดง่ายๆ จึงใช้ฝีมือความชอบและเคยทำ "เบเกอรี่” ขายตามตลาดนัด ไปทำขายในคีออสตามห้าง ภายใต้แบรนด์ เอพริล เบเกอรี่ ” ซึ่งมาจากชื่อเก่าของเธอคือ เมษา สาขาแรกเริ่มที่ เซ็นทรัล พระราม 3  

160223241134

ทว่า ธุรกิจดังกล่าวเฮง และร่วงภายในเวลา 1 เดือน จากยอดขายดีในวันแรก 20,000 บาท ค่อยๆ ลดลง หลักพัน จนสิ้นเดือนเคยเหลือยอดขายต่ำสุด 700-800 บาท

นี่คือเรื่องจริงที่เธอยอมรับว่าพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย เพียงแค่เกิดอาการเห่อเบเกอรี่ ขนมตะวันตกแป้งและเนยที่ไม่คุ้นเคย แต่ไม่ใช่เมนูหลักที่จะทานได้ทุกวัน ยอดขายที่ลดลง ไม่คุ้มค่าเช่า ทางห้างฯจึงแนะนำให้ไปคิดค้นสินค้าใหม่

จึงกลายเป็นที่มาของการแกะรอย สูตรพายหมูแดงฮ่องกง” หรือ เมืองไทยเรียกว่า ขนมเปี๊ยะ ต้นตำรับขายที่ฮ่องกง การันตีความอร่อยจากคนยืนต่อคิวเป็นหางว่าว

เธอรู้จักพายเพราะแค่ต้องการซื้อกลับมาฝากเพื่อนและน้องสาวในเมืองไทย ผู้รับที่ติดอกติดใจรสชาติจนต้องรบเร้า ให้เธอลองทำขาย แทบไม่น่าเชื่อว่าจากของฝาก กลับเป็นสินค้าชูโรงที่จะต่อยอดมาสู่ธุรกิจได้

ด้วยความที่เราไม่อยากออกจากห้างฯ อยากรักษาที่ไว้ จึงต้องหาสินค้าใหม่มาขายให้คุ้มค่าเช่า จึงแกะสูตรพาย ปรับใหม่ให้เข้ากับรสชาติคนไทย แป้งบางผสมเอง คนฮ่องกงติดเค็ม แต่ของคนไทยชอบทานหวาน ส่วนหมูก็ไม่ใช้หมูติดมันเหมือนต้นตำรับ เพราะคิดว่าคนไทยจะห่วงสุขภาพมากกว่า” เธอเล่าถึงที่มาของสูตรพายไส้หมูแดง จากฮ่องกง เจ้าแรกของเมืองไทย โดดเด่นตรงแป้งบาง เนื้อแน่น มีให้เลือกมากกว่า 40 ไส้ในปัจจุบัน 

ทว่าความสำเร็จของขนมเปี๊ยะ "เอพริล" ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน หลังจากรสชาติลงตัว ยอดขายแม้เติบโตดีวันดีคืน แต่ก็ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน กับการแบกรับภาระค่าเช่าที่ขยายถึง 10 สาขาในห้างฯ บางสาขามีกำไร บางสาขายังขาดทุน

ชีวิตในช่วงทำขนมถือว่าต่อสู้ดินรนที่สุด มีหน้าที่เข้าครัวผสมแป้ง ปั้นขนม ส่งร้านขายในทุกๆ วัน แต่ละวันจึงผ่านไปอย่างเหนื่อยหนัก ทั้งต้องทำขนม และบริหารเงินหมุนเวียน จ่ายหนี้ ค่าเช่า ค่าวัตถุดิบ ช่วงตั้งต้นต้องใช้เงินทุนสูงก็ยอมกู้หนี้นอกระบบ จากเพื่อนสนิท แม้ขายของได้ก็ต้องแบ่งส่วนหนึ่งไปส่งหนี้ในทุกๆ เดือน ต้องตกอยู่ในสภาวะลำบาก แต่เธอก็สู้อดทนทำต่อ ด้วยความเชื่อว่าวันหนึ่งธุรกิจจะเติบโต

ช่วงที่ต้องหมุนเงิน ยอมหมดเนื้อหมดตัว นำทรัพย์สินติดตัวมาขาย ทั้งทอง แหวน รถที่มี และยังต้องยอมกู้หนี้หมุนวนไป ขายได้ก็เอาเงินมาใช้หนี้ ทั้งบริหารร้านและทำขนม อดทนทำมาเรื่อยๆ เพราะมั่นใจว่าลูกค้าประจำหลายคนชอบ มีหลายคนบอกจะมาขอซื้อแฟรนไชส์” เธอเล่าย้อนจึงจุดที่หนักที่สุด

กนกกัญจน์ อดทนกับการทำขนมและจ่ายค่าเช่ากว่า 3 ปี ในที่สุดก็มีลูกค้าประจำคนหนึ่งเดินมาขอซื้อแฟรนไชส์ ทั้งที่ในหัวแม่ค้าขายขนมเปี๊ยะไม่มีความรู้ในโมเดลการขายแฟรนไชส์เลยแม้แต่น้อย จึงต้องไปค้นหาข้อมูลใหม่ และขายแฟรนไชส์ให้ในราคา 3 แสนบาท รูปแบบคือการรับขนมจากโรงงานและส่งให้ร้านแฟรนไชส์ สาขา

ต่อมาไม่นาน ยอดคนมาขอซื้อแฟรนไชส์ทะลักเริ่มจากปีที่สองของการขายแฟรนไชส์ (ปีที่ 4 ธุรกิจ ) มีลูกค้า 10 รายร้านเติบโตอย่างรวดเร็ว ค่าแฟรนไชส์ขึ้นราคาเป็น 5 แสนบาท ยอดขายแตะ 100 ล้านบาท

ขึ้นสู่ปี ที่ 5 พายหมูแดง ไม่หยุดแผงฤทธิ์วางขายแค่ในห้างฯ จึงหาทางขยายฐานลูกค้าจากโมเดิร์นเทรดในห้างฯ มุ่งสู่ ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ยอมควักเงินลงทุน 50 ล้านบาทย้ายโรงงานจากตึกแถว 4 คูหาไปชานเมือง มีพื้นที่ได้มาตรฐาน GMP ตามเกณฑ์ของ 7-11 พร้อมกับคิดค้นสูตรพิเศษ ขนมเปี๊ยะลูกเล็ก พร้อมทาน วางบนโซนอาหารแช่เย็น โรงงานพร้อมเปิดตัวในปีที่ 7 

“โรงงานมีขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งเครื่องปั๊มลูกขนมเปี๊ยะ และปั้นขนมเปี๊ยะด้วยมือ หลายอย่างเครื่องไม่สามารถทำแทนได้ คนงานมี 100 คน กำลังการผลิตวันละ 1 แสนลูกต่อวัน” การปั้นมือคือความแตกต่างโรงงานทั่วไป 

หลังจากขนมได้วางขายใน 7-11 มากว่า 2 ปี ยอดขายเติบโตอย่างรวดเร็วมีรายได้เทียบเท่ากับ รายได้จากโมเดิร์นเทรด ถือว่าเป็นความโชคดี เมื่อปิดห้างช่วงโควิด ส่งผลทำให้ยังมีตระกร้าอีกหนึ่งใบรองรับความเสี่ยง 

ช่วงวิกฤติเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จึงทำให้เธอได้พักยกในช่วงห้างฯปิด และมองเห็นประตูบานใหม่เปิด พัฒนาช่องทางการขายใหม่ๆ โดยการตั้งทีมเซลล์ ทำขนมเปี๊ยะส่งไปตามร้านกาแฟ เริ่มต้น อเมซอน และอินทนิล โดยรวมแล้ว 80 สาขา ยังเพิ่มการขยายไปสู่ร้านกาแฟสแตนอโลนอื่นๆ เป็นการกระจายความเสี่ยง ด้วยการมีช่องทางการขายได้หลากหลาย

ปัจจุบันขึ้นสู่ปีที่ 10 เอพริล เบเกอรี่ มีแฟรนไชส์เกือบ 50 สาขา รายได้กำลังก้าวไปแตะ 200 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ หรือปีหน้า 

นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาสินค้าใหม่ต่อยอดจากวัตถุดิบ ขนมเปี๊ยะ ในโรงงาน เช่น หมูแดง หมูปิ้ง หมูย่าง กับข้าวเหนียว เมนูพิเศษ ขายช่วงโควิด เป็นการปรับเปลี่ยนวัตุดิบจากไส้ขนมเปี๊ยะ

แนวคิดนี้ทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ ปูทางไปสู่การพัฒนาโรงงานให้เป็น "ฐานการผลิต ขนมและอาหาร" ที่ต่อยอดได้หลากหลายจากมีจุดตั้งต้นขนมเปี๊ยะ 

ธุรกิจยังไม่หยุดแค่เพียงเท่านี้ กนกกัญจน์ เปิดธุรกิจร้านอาหาร "วนิดา" จากการเห็นบ้านทรงไทยเก่าๆ ในซอยแห่งหนึ่งย่านสาทร ประกาศให้เช่า จึงตกแต่งเป็นร้านอาหารไทย และแบ่งพื้นที่บางส่วน สำหรับตัวเองได้คิดค้นสูตรอาหารใหม่ๆ ที่ตลาดยังไม่เคยมี บางทีอาจจะค้นพบสูตรขนมที่สร้างปรากฎการณ์ไม่ต่างจากพายหมูแดงฮ่องกง

นี่คือทั้งหมดของธุรกิจที่เธอตั้งความหวังไว้ว่าเมื่อทุกอย่างมีฐานที่แน่น ทั้งลูกค้า ธุรกิจลงตัว จะส่งมอบหน้าที่การบริหารให้กับน้องสาว ใหม่-ริญญรัตน์ เรืองรัตนารัตน์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท สิงหาฟู้ด อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้ตัวเองกลับไปใช้ชีวิตตามที่ฝันไว้คือ การทำหน้าที่เป็นคุณแม่ลูก 3 ช่วยปูทางอนาคตให้กับทายาทที่กำลังจะไปเรียนต่อระดับมัธยมที่ประเทศ อังกฤษ คอยทำหน้าที่เป็นทั้งเพื่อนและที่ปรึกษา ในวันที่พวกเขาสับสนเมื่อต้องไปใช้ชีวิตที่ต่างแดน

ความฝันอันสูงสุด เมื่อเรามีรายได้ที่แน่นอน (Passive Income) เราก็จะไปทำหน้าที่ดูแลลูกๆ ในช่วงที่ลูกต้องไปเรียนต่างประเทศ ชอบอยู่เมืองเล็กๆ ดูแลลูกๆ เพราะอยากสร้างคนให้มีคุณภาพ ควรจะใช้เวลาว่างไปเตะบอล วิ่งเล่น เรียน มากกว่าการช้อปปิ้ง อยู่ในเมืองใหญ่”

------------------------------------

สูตรปั้นพายหมูแดงร้อยล้าน

 -ตัดสินใจแล้วลงมือ สู้ไม่ถอย

-ขยันอดทน เชื่อมั่นในสินค้า

-ขยายฐานลูกค้าเมื่อช่องทางเดิมนิ่ง

-ต่อยอดธุรกิจใหม่จากวัตถุดิบที่มี

-สร้างพื้นที่ส่วนตัวคิดค้นสินค้าใหม่